“สุริยะ” ปัดแก้สัญญาไฮสปีดเทรน 2 แสนล้าน เอื้อประโยชน์เอกชน

22 ต.ค. 2567 | 11:24 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2567 | 11:28 น.

รองนายกฯ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ยืนยัน แก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้าน ไม่มีเอื้อประโยชน์ให้เอกชน หลังผ่านชั้นอัยการมาแล้ว คาดเร็ว ๆ นี้ เสนอครม.

วันนี้ (22 ตุลาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือ ไฮสปีดเทรน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งมีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นบริษัทเอกชนคู่สัญญากับรัฐ หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติเห็นชอบหลักการในการแก้ไขสัญญากับเอกชน

โดยระบุว่า การแก้ไขสัญญาครั้งนี้ เกิดจากเอกชนและภาครัฐผิดสัญญา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของชุดไวรัสโควิด- 19 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า รัฐบาลไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเป็นต่างคนต่างผิดสัญญา

“ตามสัญญาเดิมของโครงการกำหนดให้เอกชนสร้างจนเสร็จ และหลังจากนั้น 10 ปี รัฐบาลจะค่อยชำระเงิน แต่สัญญาใหม่ จะให้เอกชนนำเงินมาวางค้ำประกันจากโดยธนาคารหรือ แบงก์การันตี และเมื่อสร้างเสร็จ รัฐบาลจะคืนให้ โดยในการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ละช่วงจะแบ่งเป็นแต่ละสัญญา หากมีการทิ้งงานรัฐจะนำเงินค้ำประกัน มาจ้างผู้ประกอบการรายใหม่แทน” นายสุริยะ ระบุ

รองนายกฯ ยืนยันว่า การแก้ไขสัญญาไฮสปีดเทรนไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่ เนื่องจากสัญญาได้ให้อัยการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว และจะเสนอเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือ ไฮสปีดเทรน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหากเชื่อม 3 สนามบินจะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวก การค้าขายดีขึ้น จึงต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป จึงต้องมาพิจารณาร่วมกันในการแก้ไขสัญญา เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์