วัดใจ “วีริศ อัมระปาล”ผู้ว่ารฟท.คนใหม่ โชว์ฝีมือ ลุยโปรเจ็กต์ระบบราง

18 ต.ค. 2567 | 06:30 น.
1.7 k

"วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่ารฟท.คนใหม่ ข้ามห้วยผู้ว่ากนอ. เร่งศึกษางานระบบราง ดันรถไฟทางคู่-ไฮสปีด เดินหน้ารื้อแผนฟื้นฟูแก้หนี้ 2.3 แสนล้านบาท จ่อถกบริษัทลูก ปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์ โกยรายได้

KEY

POINTS

  • วีริศ  อัมระปาล” ผู้ว่ารฟท.คนใหม่ ข้ามห้วยผู้ว่ากนอ. เร่งศึกษางานระบบราง
  • ดันรถไฟทางคู่-ไฮสปีด
  • เดินหน้ารื้อแผนฟื้นฟูแก้หนี้ 2.3 แสนล้านบาท
  • จ่อถกบริษัทลูก ปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์ โกยรายได้

การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. หนึ่ง ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ระบบราง สามารถยกระดับการขนส่งสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต จากการสรรหาผู้ว่ารฟท. 

ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า นาย “วีริศ  อัมระปาล” ถือเป็น หนึ่ง ในแคนดิเดตอันดับต้นๆที่มีแนวโน้มจะเข้ามาดำรงในตำแหน่งนี้ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งได้ข้ามห้วยจากตำแหน่งผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สู่ผู้ว่าการรฟท.ในปัจจุบัน หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งผู้ว่ารฟท.คนใหม่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ได้ฤกษ์งานยามดีที่ “รฟท.” ได้กำหนดพิธีลงนามสัญญาว่าจ้างนายวีริศ อัมระปาล เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เต็มตัว ถือเป็นผู้ว่ารฟท.คนที่ 20  

1 เดือนศึกษางาน รฟท.

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากการลงนามสัญญาจ้างฯ แล้วเสร็จ เบื้องต้นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ทันที เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในช่วงนี้จะขอระยะเวลาศึกษางานเร่งด่วนใน รฟท.อย่างละเอียด คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนแถลงนโยบายต่อไป

“ผมเข้ามาคนเดียว ซึ่งมีทีมของผมที่เข้ามาร่วมด้วยประมาณ 3-4 คน อาจไม่ได้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน ในระหว่างนี้จะพูดคุยร่วมกับพนักงานรฟท.ให้มากที่สุด รวมถึงพนักงานทั่วไปที่อยากให้รฟท.พัฒนาไปในทางใดบ้าง ผมก็ยินดี” นายวีริศ กล่าว

ผุดไอเดียวิสัยทัศน์ ชนะใจบอร์ดฯ

นายวีริศ ให้สัมภาษณ์ต่อว่า ในช่วงที่มีการเปิดสรรหาผู้ว่ารฟท.ให้แสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯนั้น ได้มีไอเดียให้เอกชนด้านระบบขนส่งอุตสาหกรรมเช่าพื้นที่ระบบรางของรฟท. ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ โดยรฟท.จะเข้าไปสนับสนุนในการเดินรถและการดูแลเส้นทาง ฯลฯ

ทั้งนี้จะต้องพิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ยังมีไอเดียการพัฒนาที่ดินของรฟท.ให้เกิดมูลค่าสูงสุด หรือพื้นที่เชิงพาณิชย์เช่น ชุมชน,คอนโดมิเนียม เพื่อให้รฟท.และเอกชนสามารถรับประโยชน์ร่วมกันได้

“การเข้ามาทำงานในรฟท.หนักใจหรือไม่นั้น ถึงแม้ว่าเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ รฟท. ที่มีมากว่า 100 ปี แต่ผมเข้ามาทำงานที่นี่ด้วยความตั้งใจและมั่นใจพาองค์กรเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการบริหารจัดการบุคลากรและเครื่องจักรต่างๆ ซึ่งจะต้องแก้ไขร่วมกันทั้งระบบ” นายวีริศ กล่าว

แยกบัญชี ล้างหนี้ 2.3 แสนล้าน

ส่วนการแก้ปัญหาหนี้สินและจัดทำแผนฟื้นฟูรฟท. นายวีริศ กล่าวต่อว่า รฟท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้เยอะกว่า 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งต้องพิจารณาด้วยว่าหนี้จำนวนดังกล่าว เป็นหนี้ผูกพันของภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนแก่รฟท.มากน้อยแค่ไหน และหนี้จริงของรฟท.อยู่ที่เท่าไร ซึ่งงบประมาณในแต่ละปีจะมีสัญญาจากภาครัฐที่ระบุไว้

เนื่องจากเป็นการขอรับจัดสรรเงินอุดหนุนเชิงสังคม (PSO) เพื่อขนส่งสาธารณะ เบื้องต้นมีแนวทางการแยกสัดส่วนบัญชีหนี้ให้ชัดเจน รวมถึงการขอประนอมหนี้ด้วย

เด้งรับนโยบายทางคู่-ไฮสปีด

นายวีริศ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะมีการนำนโยบายของรัฐบาลและนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่เร่งรัดให้เห็นการพัฒนาโครงการลงทุนต่างๆ ให้ชัดเจน เช่น โครงการรถไฟทางคู่,โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน ฯลฯ ซึ่งผมพยายามดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้การเดินทางด้วยรถไฟเป็นการเดินทางหลักของประเทศ

ขณะที่การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระบบรางของรฟท.ถือเป็นการเพิ่มหนี้ให้องค์กร แต่เป็นการสร้างหนี้เพื่อใช้ประโยชน์ด้านคมนาคมของประเทศ ลดค่าโลจิสติกส์ในประเทศ เห็นได้จากในประเทศญี่ปุ่น,เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มักเดินทางด้วนระบบขนส่งสาธารณะมากกว่าการใช้รถส่วนตัว

 “การลงทุนโลจิสติกส์ในด้านนี้ ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น ผมอยากพัฒนาให้ประเทศไทยไปสู่จุดนั้นให้ได้” นายวีริศ กล่าว  

ส่วนโครงการเร่งด่วนต่างๆในช่วงที่ผ่านมามักจะมีปัญหาติดขัด โดยเฉพาะการส่งมอบพื้นที่และการเจรจาสัญญา ซึ่งผมจะประสานงานร่วมกับรองผู้ว่ารฟท.และฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ลงพื้นที่ดูรายละเอียดและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้โครงการต่างๆสามารถเดินหน้าเป็นอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

ประสบการณ์ กนอ.ปั้นพื้นที่เชิงพาณิชย์
 นายวีริศ กล่าวปิดท้ายว่า จากประสบการณ์การทำงานในช่วงที่รับตำแหน่ง กนอ.นั้น จะเข้ามาปรับใช้กับรฟท.ในเรื่องของบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ปัจจุบันรฟท.ทำได้เพียงส่งต่อการบริหารสัญญาให้บริษัทลูกดูแลจัดการทรัพย์สินของรฟท.เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

  วัดใจ “วีริศ  อัมระปาล”ผู้ว่ารฟท.คนใหม่ โชว์ฝีมือ ลุยโปรเจ็กต์ระบบราง

พบว่าปัจจุบันรฟท.มีที่ดินสามารถไปใช้ประโยชน์ได้ ปัจจุบันรฟท.มีบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งจะต้องพิจารณาหาสาเหตุว่าทำไมไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เพื่อให้มีมาตรการที่ชัดเจนมากขึ้น 
 
นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนารายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีมูลค่ามาก เช่น พื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ,พื้นที่มักกะสัน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศุนย์รังสิต,มหาวิทยาลัยมหิดล,สถานีแม่น้ำ ฯลฯ ซึ่ง โดยจะประสานงานร่วมกับบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เพื่อบริหารสัญญาที่ดินให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เมกะโปรเจ็กต์หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,037 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2567