เริ่มงานวันแรก "วีริศ" ผู้ว่ารฟท. ลุยนโยบายไฮสปีด-ล้างหนี้ 2.3 แสนล้าน

19 ก.ย. 2567 | 11:52 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 12:21 น.

"วีริศ อัมระปาล" ผู้ว่ารฟท.คนใหม่ กางนโยบายเร่งด่วน ดัน 3 บิ๊กโปรเจ็กต์ไฮสปีด-รถไฟทางคู่ เดินหน้าแก้หนี้ 2.3 แสนล้านบาท เปิดทางเอกชนเช่าระบบราง หนุนอัพเกรดพื้นที่เชิงพาณิชย์

ผู้สื่อข่าวรายว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแต่งตั้งนายวีริศ อัมระปาล นั่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) คนใหม่แทนนายนิรุฒ มณีพันธ์ ที่เกษียณอายุราชการ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังรฟท.ได้กำหนดจัดพิธีลงนามสัญญาจ้างฯ ว่า หลังจากลงนามสัญญาฯแล้วเสร็จ ผมจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในรฟท.ทันที

ซึ่งในช่วงนี้จะขอเวลาศึกษางานในรฟท.อย่างละเอียด คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนแถลงนโยบายต่อไป

ทั้งนี้จะมีการนำนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง เช่น

โครงการรถไฟทางคู่,โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ,โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน ฯลฯ

นายวีริศ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันในช่วง 3 เดือนแรก ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่ารฟท.นั้น จะเข้ามาเร่งรัดดำเนินการ 3 เรื่อง ดังนี้

1.การจัดระเบียบการทำงานภายในองค์กรและการปรับโครงสร้างองค์กร

2.การแก้ปัญหาหนี้สินและจัดทำแผนฟื้นฟูรฟท. ปัจจุบันพบว่า รฟท.มีหนี้ วงเงิน 2.3 แสนล้านบาท

ซึ่งจะต้องศึกษาด้วยว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ผูกพันที่ขอรับการสนับสนุนเชิงสังคมจากภาครัฐ (PSO) ว่ามีจำนวนเท่าไร

เบื้องต้นมีแนวทางการแยกสัดส่วนบัญชีหนี้ให้ชัดเจน รวมถึงการขอประนอมหนี้ด้วย

3.การเปิดให้เอกชนเช่าระบบรางเพื่อหารายได้เพิ่มในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP)

เริ่มงานวันแรก \"วีริศ\" ผู้ว่ารฟท. ลุยนโยบายไฮสปีด-ล้างหนี้ 2.3 แสนล้าน

ขณะเดียวกันจะดำเนินการศึกษาพื้นที่ ICD ลาดกระบัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อระบบราง

แต่ปัจจุบันกลับไม่มีผู้มาใช้บริการ ส่งผลให้ในปัจจุบัน ICD ลาดกระบัง มีปริมาณการขนส่งสินค้าลดลงอยู่ที่ 1 ล้านตู้ทีอียู จากเดิมที่ปริมาณขนส่งสินค้าอยู่ที่ 2 ล้านตู้ทีอียู

"หากโครงการนี้สามารถเดินหน้าต่อได้จะเป็นประโยชน์ต่อรฟท.ที่ช่วยลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์และลดภาระการขนส่งทางถนนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ" นายวีริศ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนารายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์ รฟท. เช่น พื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ,พื้นที่มักกะสัน, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

,มหาวิทยาลัยมหิดล,สถานีแม่น้ำ ฯลฯ ซึ่ง โดยจะประสานงานร่วมกับบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เพื่อบริหารสัญญาที่ดินให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด