"การบินไทย" ดีเดย์ 30 ก.ย.นี้ ยื่นไฟลิ่ง แปลงหนี้เป็นทุน

28 ก.ย. 2567 | 04:44 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2567 | 13:48 น.

การบินไทย ดีเดย์ 30 กันยายน 2567 นี้ ยื่นไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุน เดินหน้าปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตั้งเป้าออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ พร้อมกลับมาเทรดได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การบินไทยเตรียมจะยื่นไฟลิ่ง  ในการออกหุ้นเพิ่มทุน ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 นี้ เพื่อเตรียมปรับโครงสร้างทุน ตามแผนฟื้นฟูกิจการ และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนอีกประมาณ 9,800 ล้านหุ้น ในราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น

มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะประกอบด้วย 

ชาย เอี่ยมศิริ

การแปลงหนี้เป็นทุน 

การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุน (Mandatory Conversion)

  • การแปลงหนี้ในสัดส่วน 100 % เป็นทุน ของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ กระทรวงการคลัง การแปลงหนี้ในสัดส่วน 24.50 % ของมูลหนี้เป็นทุน เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้)

สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติม (Voluntary Conversion) 

  • สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากร้อยละ 24.50 ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 5 6 และ 18-31 ข้างต้น 

การออกหุ้นเพิ่มทุน

การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัทฯ และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงตามลำดับ 

ทั้งนี้การบินไทยจะสามารถยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการปรับโครงสร้างทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 นี้

"การบินไทยจะยื่นเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาปรับโครงการทุนครั้งนี้ มีรายละเอียดมากถึง 1,000 หน้า ซึ่งประกอบการ ข้อมูลบริษัท แผนธุรกิจ แผนจัดหาเครื่องบิน โดยมั่นใจว่าจะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในการบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว"

หลังจากนั้นกระบวนการใช้สิทธิและแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 และกระบวนการเสนอขาย และจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนสำหรับผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัทฯ และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคม 2567

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการจัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ และที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงระยะเวลาในการพิจารณาให้หนังสือชี้ชวนมีผลบังคับใช้ของ ก.ล.ต.

โดยการบินไทยคาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปีนี้ตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์ให้งบการเงินประจำปี 2567 ของบริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ

บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568

นายชาย ยังกล่าวต่อว่า ก่อนการเพิ่มทุน เราได้เรียกประชุมเจ้าหนี้ ที่จะต้องมีการแปลงหนี้เป็นทุน มาอัพเดทสถานการณ์ เราเริ่มทำไปแล้ว 2 กลุ่ม และต้นเดือนหน้าก็จะมีกลุ่มใหญ่อีกกลุ่ม คือ เจ้าหนี้สหกรณ์ การบินไทยต้องไปทำความเข้าใจ

เพราะเจ้าหนี้ทุกกลุ่มตอนนี้ ที่เป็นเจ้าหนี้รัฐ  เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ มีสิทธิ์ที่จะแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากที่แผนกำหนดไว้ 24.5% ยังมีสิทธิ์แปลงเพิ่มได้อีก ซึ่งก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย

ข้อดี ก็คือ ถ้าตามแผน จะมีแผนการชำระหนี้ตามแผน เจ้าหนี้ที่ไกลที่สุด ณ วันนี้ คือเจ้าหนี้หุ้นกู้ วันนี้ไปกว่าเราจะจ่ายเงินครบตามแผน งวดสุดท้ายก็ประมาณอีก 12 ปี ตามแผนบอกว่าเจ้าหนี้กลุ่มเหล่านี้สามารถจะแปลงหนี้เป็นทุนได้ แปลว่าสุดท้ายแล้วก็จะได้รับการชำระหนี้เร็วกว่าที่กำหนดในแผน แต่เร็วกว่าในรูปของการถือหุ้น ซึ่งการถือหุ้นนั้น เจ้าหนี้หุ้นกู้จะได้สิทธิ์ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในราคา 2.5452 บาท

การบินไทยได้จัดหาที่ปรึกษาการเงินอิสระ มาประเมินมูลค่าหุ้น ให้เจ้าหนี้เห็นว่ามูลค่าหุ้นการบินไทย ที่กำลังจะเพิ่มทุนมีมูลค่าเท่าไหร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จราวต้นเดือนตุลาคมนี้ และการบินไทยก็มีที่ปรึกษาทางการเงินอีกชุดหนึ่ง  มาประเมินมูลค่าหุ้นด้วยเช่นกัน

ผู้บริหารแผนจะกำหนดราคาหุ้น ที่จะขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งจากการประเมิน ก็คาดว่า สูงกว่า 2.5452 บาท คือสูงกว่าที่เจ้าหนี้ได้รับการแปลงหนี้เป็นทุน เพราะฉะนั้นสิทธิ์ของเจ้าหนี้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติม จะได้ราคาต่ำกว่าผู้ถือหุ้นรายใหม่ และผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้รับการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละกลุ่มเจ้าหนี้

ส่วนของผู้ถือหุ้นใหม่ หรือหุ้นใหม่ ถ้าเราใช้ 2.5452 บาทเป็นตัวตั้ง ต่ำสุดก็ควรจะเป็น 25,000 ล้านบาท ถ้าราคาหุ้นขึ้นไปเรื่อยๆก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะส่วนของหุ้นเพิ่มทุนอยู่ที่ประมาณ 9,800 กว่าล้านหุ้น  ถ้าเพิ่มขึ้น 1 บาท จาก 2.5452 บาท ก็คือเท่ากับเพิ่มขึ้น 9,800 ล้านบาท

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐ ในขณะนี้ยังไม่สามารถทราบได้แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้จะมีการแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมไหม 

การปรับโครงสร้างทุนของการบินไทย

แต่ส่วนของกระทรวงการคลัง เท่าที่ดูตามซีนาริโอ น่าจะต่ำกว่าเดิม ต่ำกว่าปัจจุบัน อาจจะอยู่ระหว่าง 30-45 % ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ด้วยว่าจะแปลงหนี้เป็นทุนได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นเดิมที่เรามีอยู่ในตลาด โดยในแผนฟื้นฟูระบุชัดว่าผู้บริหารแผนมีหน้าที่จะไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ

ขณะที่ประเด็นหลังปรับโครงสร้างทุน และออกจากแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทจะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น คงต้องรอดูเจ้าหนี้ที่จะมีการแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมหรือไม่

แต่อย่างไรก็ดี จากการดำเนินงานของการบินไทยในช่วงฟื้นฟูกิจการ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าการเป็นบริษัทเอกชนคล่องตัวกว่า และเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่อยากให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งแผนฟื้นฟูยังระบุว่า หน้าที่ผู้บริหารแผนคือไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก