รัฐแก้กฎหมายล้างบาปคนล้มละลาย รับราชการ นั่งบอร์ด ก.ล.ต.-บจ.

14 พ.ค. 2567 | 16:47 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2567 | 17:10 น.
3.3 k

สำนักงาน ป.ย.ป.เปิดรับฟังความคิดเห็น ปลดแอก บุคคลล้มละลาย รับราชการ - ดำรงตำแหน่ง ประธาน ก.ล.ต. กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการ ก.ล.ต. กรรมการ-ผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์-ตลาดหลักทรัพย์

“ฐานเศรษฐกิจ” รายงานว่า สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ( ป.ย.ป.) เปิดรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพในกฎหมายของบุคคลล้มละลาย พ.ศ. .... ประกอบด้วย 7 มาตรา โดยให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ บนเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 

โดยระบุหลักการและเหตุผลสมควรให้มีการแก้ไขว่า การดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพในกฎหมายของบุคคลล้มละลายในปัจจับันมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส่งผลให้บุคคลล้มละลายขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพจากกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย 

ผลกระทบของการกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมาย เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบันเป็นเหตุให้บุคคลล้มละลายเป็นข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลาย และการกำหนดข้อจำกัดดังกล่าวมีแนวทางที่ไม่ชัดเจน ได้แก่ เหมารวมว่าบุคคลล้มละลายไร้ความสามารถ 

การล้มละลายไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ดีเสมอไป ข้อจำกัดดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์และไม่คุ้มค่า และขัดต่อหลักสากลในเรื่องการเคารพสิทธิของบุคคลและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และอาจขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

จึงสมควรกำหนดแนวทางเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในกรณีที่มีการกำหนดห้วงเวลาการห้าม เพื่อมิให้เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลมากเกินไป 

แต่สำหรับบุคคลที่ล้มละลายทุจริตนั้น อาจนำมาเป็นข้อจำกัดต่อไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลนั้นกลับมาสร้างความเสียหายต่อสังคมได้อีก 
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาบุคลากรที่ดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพที่มีความรู้ ความสามารถ ให้อยู่ในระบบต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ 

โดย “ข้อจำกัด” ในการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลาย ออกเป็น 4 ลักษณะ 

  • ห้ามดำรงตำแหน่งสำคัญ 
  • ห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน 
  • ห้ามรับราชการ
  • ห้ามประกอบอาชีพ

โดยที่การกำหนดข้อจำกัดดังกล่าวมีแนวทางที่ไม่ชัดเจน ได้แก่ เหมารวมว่าบุคคลล้มละลายไร้ความสามารถ การล้มละลายไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ดีเสมอไป ข้อจำกัดดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์และไม่คุ้มค่า ขัดต่อหลักสากลในเรื่องการเคารพสิทธิของบุคคลและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 4  ระบุว่า ให้ยกเลิกมาตราในพระราชบัญญัติ ที่บัญญํติว่า "เป็นบุคคลล้มละลาย” จำนวน 13 ฉบับ และให้ใช้ข้อความตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติแทน โดยกำหนดให้การ “เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต” เป็นลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ 

  • ประธานกรรมการ ก.ล.ต. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการ ก.ล.ต.
  • กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการหรือที่ปรึกษาของบริษัทหลักทรัพย์
  • กรรมการตลาดหลักทรัพย์
  • ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 
  • ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
  • อธิการบดี
  • นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย 
  • กรรมการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ กรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 
  • กรรมการ ก.พ.ค. กรุงเทพมหานคร 
  • ข้าราชการกรุงเทพมหานคร
  • ผู้อำนวยการสถาบันสถาบันวิทยาลัยชุมชน 
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิงานทางวิทยาศาสตร์ 
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคุมประพฤติ  
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด 
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง

สำหรับบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ 

  • พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
  • พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546
  • พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547
  • พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546
  • พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547
  • พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.2548
  • พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554
  • พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2554
  • พระราชบัญญัติสถาบันวิทยาลัยชุมชน พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2558
  • พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.2559
  • พระราชบัญญัติการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ.2561
  • พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565