ไทย - กัมพูชา ถก สานความร่วมมือแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน

09 มี.ค. 2567 | 16:38 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2567 | 16:42 น.

“กระทรวงทรัพยากรฯ” เร่งถกแผนรับมือปัญหาหมอกควันข้ามแดน หวังลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เชื่อมความร่วมมือไทย-กัมพูชา

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้มอบหมายจากพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างไทย-กัมพูชา กับผู้แทนประเทศกัมพูชา พร้อมด้วย กรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมเอเซียตะวันออก ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์

ไทย - กัมพูชา ถก สานความร่วมมือแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน

ทั้งนี้สถานการณ์หมอกควันข้ามแดนระหว่างไทยและกัมพูชา จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน ของทุกปี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องการประสานงานกับกัมพูชาอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ด้วยตระหนักถึงการดูแลและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งสองประเทศ 
 

สำหรับการประชุมหารือถึงความร่วมมือในวันนี้ ได้มีข้อสรุปผลการหารือ 1.กำหนดการประสานงานผ่าน Hotline ระหว่าง 2 ประเทศ เป็น 2 ระดับ ระดับกระทรวงและระดับกรม 2.การเข้าร่วมแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใสของกัมพูชา และการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมด้านอื่นเพิ่มเติมระหว่างไทย - กัมพูชา 3. กำหนดการจัดฝึกอบรมเรื่องการจัดการคุณภาพอากาศให้กับเจ้าหน้าที่กัมพูชา ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ประเทศไทย และ 4.จัดการประชุมคณะทำงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างไทย - กัมพูชา ในคราวเดียวกัน 

ไทย - กัมพูชา ถก สานความร่วมมือแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน

ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ในประเด็นปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ตกลงจัดตั้งคณะทำงานร่วม การจัดตั้งสายด่วน (Hotline) ความร่วมมือในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเตือนจุดที่มีการเผา เสริมสร้างขีดความสามารถและแบ่งปันแนวปฏิบัติในการจัดการกับการเผาในที่โล่ง ซึ่งประเทศไทยได้เชิญราชอาณาจักรกัมพูชาเข้าร่วมแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหาในระดับภูมิภาค