เบื้องหลัง ยึดอำนาจ ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ปัดฝุ่น "บอร์ดจัดสรรที่สปก."

04 มี.ค. 2567 | 16:37 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 17:36 น.

เปิดเบื้องหลัง เลขาธิการ ส.ป.ก. ลงนามถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งคณะทำงานแนวเขตการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกร สางปัญหาพื้นที่ทับซ้อน สปก.-อุทยานแห่งชาติ

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินสปก. กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสังคยานาครั้งใหญ่พื้นที่ทับซ้อน

นำไปสู่การลงนามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ขอความอนุเคราะห์แต่งตั้งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร กรณีเป็นที่ดินที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตกรรม   

อำนาจ-หน้าที่พิจารณาตรวจสอบแนวเขตการถือครองทำประโยชน์ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน

โดยให้พิจารณาว่า “ทับซ้อนหรือรุกล้ำแนวเขตที่ดิน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” 

เบื้องหลังการออกคำสั่งแต่งตั้ง “คณะทำงานพิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร” โดยมีปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่มี “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมคณะทำงาน 9 หน่วยงาน 

สืบเนื่องจากการที่เลขาธิการ สปก.มอบอำนาจให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีอำนาจในการจัดสรรที่ดินเกิดขึ้นเมื่อปี 64 แต่เดิมก่อนหน้านี้การพิจารณารับรองการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรใช้รูปแบบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินมาโดยตลอด 

แต่เกิดปัญหามีเกษตรกรไปร้องเรียนความล่าช้าในการจัดสรรที่ดิน 5 – 6 ปีก็ยังไม่ได้รับการจัดสร เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินประชุมปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น 

คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้มีความเห็นว่า อำนาจในการออกเอกสารสิทธิเป็นหน้าที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เลขาธิการ สปก. จึงได้มอบ “อำนาจเต็ม” ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจจัดสรรที่ดิน 

ทว่าเมื่อเกิดปัญหา "วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข" เลขาธิการ สปก.จึงกลับมาทบทวนและกลับไปพิจารณารับรองที่ดินให้กับเกษตรกรในรูปแบบของคณะกรรมการโดยประกอบด้วย 9 หน่วยงานเพื่อรับรอง-ตรวจทานให้มีความเข้มข้นมากขึ้น 

หลังจากนี้จะไปหารือกับกฤษฎีกาต่อไป เนื่องจากเกิดปัญหาในทางปฏิบัติมีผู้หาโอกาสจากที่ดินของรัฐมาใช้เป็นของตัวเอง ทั้งที่ไม่ใช่เกษตรกร และเพื่อให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต 

นอกจากนี้ยังแต่งตั้ง "ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ" เป็น “หัวหน้าทีม” เพื่อแต่งตั้ง “คณะทำงานระดับเขต-จังหวัด” เพื่อไปตรวจสอบรายแปลงว่าเป็นเกษตรกรทั่วประเทศว่า เป็น เกษตรกรตัวจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ตัวจริงให้ “ยกเลิกสิทธิ” และดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่บกพร่องต่อหน้าที่