จีนรุกฆาตตลาดอาเซียน ทุบค้าไทยสลบ ปี 66 ขาดดุลทำนิวไฮ 1.2 ล้านล้าน

15 ก.พ. 2567 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2567 | 11:46 น.

จีนรุกฆาต สะเทือนค้าไทย-อาเซียน 4 ล้านล้านติดลบครั้งแรกรอบ 3 ปี ห่วงอนาคตกินรวบ อีกด้านสินค้าแดนมังกรทะลักทำไทยขาดดุลปี 66 กว่า 1.29 ล้านล้าน กกร.กระทุ้งรัฐทบทวนกติกาค้าใหม่ คลังจ่อทบทวนยกเว้น VAT สินค้านำเข้าไม่เกิน 1,500 สร้างเป็นธรรมผู้ประกอบการไทย

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ปะทุขึ้นในปี 2561 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยสหรัฐสั่งเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มหลายพันรายการเพื่อลดขาดดุลการค้า ส่งผลให้จีนหันมาค้ากับอาเซียน (10 ประเทศรวมไทย) ที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันมากขึ้น จากมีแต้มต่อภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันลดเป็น 0% เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้จีนซึ่งเป็นโรงงานผลิตของโลก สามารถทะลุทะลวงตลาดทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ได้มากขึ้นทุกขณะ ซึ่งได้ส่งผลกระทบการค้าไทยกับอาเซียนที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย  (สัดส่วน 23-25% ของการส่งออกโดยรวม) อย่างชัดเจน

ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ในปี 2566 ล่าสุด การค้าไทย-อาเซียน (9 ประเทศ) มีมูลค่ารวม 4.00 ล้านล้านบาท ลดลง 7.68% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการส่งออกของไทยไปอาเซียน มูลค่า 2.30 ล้านล้านบาท ลดลง 7.59% ซึ่งเป็นการกลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 3 ปีนับจากปี 2563 หลังเกิดวิกฤตโควิด (ในปี 2562) ที่การส่งออกของไทยไปตลาดอาเซียนติดลบ 11.75%

จีนรุกฆาตตลาดอาเซียน ทุบค้าไทยสลบ ปี 66 ขาดดุลทำนิวไฮ 1.2 ล้านล้าน

  • สินค้าจีนเบียดแย่งตลาด

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สินค้าไทยที่ส่งออกไปอาเซียนที่ติดลบในปี 2566 เป็นผลกระทบจากหลายปัจจัย ปัจจัยจากจีน คือ 1.สินค้าจีนเข้าไปขายในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น และเข้าไปแทนที่สินค้าไทย 2.สินค้าไทยศักยภาพการแข่งขันลดลง จากต้นทุนการผลิตที่สูง ขณะที่สินค้าจีนต้นทุนการผลิตตํ่า 3.นโยบาย China+1 และ BRI ของจีนที่ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจด้านการลงทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศอาเซียน ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากจีน ทั้งวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูป แทนที่สินค้าไทย

ส่วนปัจจัยจากอาเซียน คือ 1.นโยบายการปกป้องสินค้าของประเทศอาเซียน เพื่อสนับสนุนให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น และ 2.การบังคับมาตรฐานสินค้าในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และ SMEs ของประเทศอาเซียน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“การค้าอาเซียนที่รวมถึงไทยกับจีนที่เพิ่มขึ้น หลังสหรัฐในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศสงครามการค้ากับจีน และยังมีต่อเนื่องในสมัยโจ ไบเดนในปัจจุบัน เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ทำให้จีนหันมาค้ากับอาเซียนมากขึ้น รวมถึงย้ายฐานการผลิตเข้ามาในอาเซียน เพื่อใช้เป็นฐานส่งออกแทนฐานผลิตในจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีนำเข้าที่สหรัฐทำสงครามการค้ากับจีน ขณะเดียวกันจีนหันส่งออกมาในอาเซียน เพื่อชดเชยการส่งออกที่ลดลงของสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯมากขึ้น ส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจีนลดลงในรอบหลายปี โดยในปี 2566 สหรัฐขาดดุลการค้าจีนลดลงเหลือ 279,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2566 ขาดดุล 382,000 ล้านดอลลาร์”

  • จี้รัฐกำกับดูแลเข้มงวดขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่ประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จีนได้มุ่งหน้าหันมาค้าขายกับอาเซียนมากขึ้น และอาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนแทนสหรัฐไปแล้ว โดยยอดการค้าจีน-อาเซียนพุ่งเป็นปีละกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมาการค้าจีน-อาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น 6-7% โดยที่จีนได้เปรียบดุลการค้าอาเซียนทุกประเทศ

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่ประเทศไทย

“แนวโน้มสินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในอาเซียนรวมทั้งไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากจีนพลิกตัวเร็วมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในประเทศ ขณะเดียวกันเขาก็เข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตเข้ามาอยู่ในอาเซียนมากขึ้น โดยมีไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายหลัก มีมาเลเซียแถมมานิดหน่อย ซึ่งเราได้ประโยชน์ในแง่การลงทุน แต่จะเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศและในอาเซียนให้จีนเพิ่มขึ้น ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ดูแลนโยบายและมาตรการนำเข้าต่าง ๆ ต้องมีความเข้มงวดกว่าที่เป็นอยู่”

  • ไทยขาดดุลจีนทำนิวไฮ

 ขณะที่อีกด้านหนึ่ง จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า การค้าไทย-จีนในปี 2566 ได้กลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 4 ปี (นับจากปี 2562 ที่การค้าไทย-จีนติดลบ) โดยปี 2566 การค้าไทย-จีน(สัดส่วน 18% ของการค้าไทยกับโลก) มีมูลค่า 3.64 ล้านล้านบาท -0.80% แยกเป็นการส่งออก 1.17 ล้านล้านบาท -1.26% การนำเข้า 2.47 ล้านล้านบาท -0.58% ไทยขาดดุลการค้าจีน 1.29 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

 ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ออกมาแสดงความกังวลกรณีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ (จากจีน) ได้เข้ามาทุ่มตลาดในไทยและตลาดอาเซียนทั้งจากสินค้าออนไลน์(อี-คอมเมิร์ซ) และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศกระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ จึงขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ราคาไม่เกิน 1,500 บาท และทบทวนนโยบายและเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone และเร่งออกมาตรฐานบังคับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ครอบคลุม

  • ชงฟรีโซนห่าง กทม. 200 กม.

 รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า หากรัฐบาลจะมีการเก็บ VAT ในการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท มองว่า ไม่มีผลทำให้การซื้อขายลดลง แต่ยังทำให้มีการนำเข้าสินค้าจีนเข้ามาเพิ่มขึ้น เพราะกำหนดราคาสินค้าตํ่าไป ทั้งนี้ควรออกมาตรการเพิ่มเติมแทน เช่น 1.ควรกำหนดราคาขั้นตํ่าสินค้านำเข้าเพื่อซื้อขายออนไลน์ หากราคาไม่เกิน 3,500-4,000 บาท ห้ามซื้อขายออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อเปิดโอกาสให้กับสินค้าไทย

 2.เก็บภาษีสินค้าจีนที่ราคาขายตํ่ากว่าราคาสินค้าไทย  3.กำหนดขนาดพื้นที่คลังสินค้าจีนใน Free Trade Zone ให้เล็กลง และอยู่ให้ในต่างจังหวัดที่ห่างจาก กทม. 200 กม. หรือมากกว่าและห่างจากเมืองใหญ่ในภูมิภาค เป็นต้น เพื่อให้มีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นเหมือนที่อินโดนีเซียทำ 4.การขายสินค้าออนไลน์ ต้องมีการกำหนดสัดส่วนการซื้อขาย เช่น สินค้าไทยต่อสินค้าจีน 50 : 50 และ 5.กำหนดกรอบวันในการนำเข้าสินค้าจีน เช่น ช่วงฤดูผลผลิตของไทย ห้ามนำเข้าสินค้าจีน หรือกำหนดช่วงระยะเวลา และสัดส่วนการนำเข้า นอกจากนี้ในการค้าในช่องทางปกติควรมีการทบทวน FTA ทุกกรอบในทุก 5 ปี เพื่อประเมินผลกระทบ

  • สินค้าเกิน 100 บาทให้เสีย VAT

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่า กรณี สินค้าจีนทะลักเข้ามาขายในไทยผ่านช่องโหว่ทางกฏหมาย ทั้ง Free Trade Zone และการเว้นภาษี VAT สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ราคาไม่เกิน 1,500 บาทนั้น ในส่วนของ Free Trade Zone นั้นคงยกเลิกไม่ได้ เนื่องจากส่งผลกระทบมาก แต่ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้นำสินค้าจาก Free Trade Zone ซึ่งเป็นจุดพักสินค้าไปต่างประเทศออกมาจำหน่ายในประเทศ

ส่วนเรื่องการเว้นภาษี VAT สินค้าออนไลน์ราคาไม่เกิน 1,500 บาท อาจบังคับใช้กฎหมายเว้นภาษี VAT สำหรับสินค้ามูลค่าตํ่ากว่า 100 บาท เหมือนกับอินโดนีเซีย ส่วนราคาสูงกว่าให้เก็บตามปกติ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และอุตสาหกรรม จะต้องเชิญผู้ให้บริการอี-มาร์เก็ตเพลส ช้อปปี้-ลาซาด้า มาหารือ เพื่อขอความร่วมมือให้ผู้ค้าจีน ที่นำสินค้ามาขายผ่านแพลตฟอร์ม มีการจดทะเบียนในไทย เพื่อให้สามารถตรวจสอบ และจัดเก็บภาษีได้ รวมถึงการดูแลผู้บริโภคอย่างถูกต้อง

  • คลังจ่อยกเลิกยกเว้นแวต

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เผยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมร่วมระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงการทบทวนการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่มีการสั่งซื้อ และส่งเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการยกเว้นภาษี VAT 7% และอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่มีหีบห่อ ราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท

ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนอัตราอย่างไร หรือควรยกเลิกการยกเว้นหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ อีกทั้งจะมีการพิจารณาภาพรวมทุกมิติ ตลอดจนผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ผลิต คนทำมาค้าขายที่ได้รับผลกระทบจากการยกเว้นภาษีการสั่งซื้อสินค้าด้วย

“ในการหารือครั้งนี้ จะไม่ได้ดูเรื่องการยกเว้น หรือทบทวนอัตราภาษีอย่างเดียว แต่จะดูถึงภาพรวมของผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งบริการขนส่งโลจิสติกส์ที่ไม่ใช่ไปรษณีย์ การหลบเลี่ยงโดยสำแดงราคาสินค้าให้ตํ่ากว่า 1,500 บาท เพื่อตั้งใจเลี่ยงภาษี รวมถึง Free Trade Zone หรือเขตปลอดอากรที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในอดีตมีการยกเว้นภาษี VAT ไว้สำหรับสินค้านำเข้าที่มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เนื่องจากมูลค่า 1,500 บาท น้อยเกินไปไม่คุ้มค่ากับการคัดกรอง และเก็บภาษี รวมทั้งในอดีตไม่ได้มีการสั่งซื้อและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้ง่ายเหมือนในปัจจุบัน ฉะนั้นต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษี VAT ตั้งแต่บาทแรกสำหรับสินค้าที่ผลิตและขาย ทั้งนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างกำหนดวันประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนนโยบายดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ