ส่งออก“การ์เมนต์” ส่งสัญญาณฟื้น ในประเทศสินค้าจีนตีตลาดหนัก

12 ก.พ. 2567 | 11:53 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2567 | 12:10 น.

การ์เมนต์ไทยดิ้นอยู่รอด หลังผ่านยุคโควิดยอดขายยังไม่กลับไปที่ระดับปกติ ส่งออกปี 66 ยังติดลบตัวเลขสองหลัก ลุ้นปีนี้กลับมาโต 5-8% หลังเสื้อผ้ากีฬาแบรนด์ดังส่งสัญญาณกลับมาลงออร์เดอร์ใหม่ ห่วงตลาดในสินค้าจีนยึดตลาด หลายรายถอดใจหันนำเข้ามาขายแทน

KEY

POINTS

  • ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยคาดหวังจะกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวเป็นบวกในปีนี้ หลังคู่ค้ารายใหญ่ในกลุ่มเสื้อผ้ากีฬาเริ่มกลับมาจองการผลิต
  • การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีนมีการขยายตัวต่อเนื่อง
  • ผู้ประกอบการไทยที่แข่งขันต้นทุนและราคาไม่ได้ ผันตัวเป็นผู้นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น

 

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) อุตสาหกรรมยุคบุกเบิกของไทย ใช้แรงงานเข้มข้นในช่วงโควิด (2563-2565) ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง จากการค้าโลกชะลอตัว สงครามรัสเซีย-ยูเครนอัดซํ้าทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ ณ ปัจจุบันในส่วนของการส่งออกการ์เมนต์ยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิดได้

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยในปี 2562-2566 มีมูลค่า 79,455.79 ล้านบาท, 65,825.42 ล้านบาท, 72,144.18 ล้านบาท, 83,775.42 ล้านบาท และ 70,330.32 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนการส่งออกสิ่งทอปี 2562-2566 มีมูลค่า 213,999.50 ล้านบาท, 177,816.58 ล้านบาท, 205,629.08 ล้านบาท, 273,373.41 ล้านบาท และ 207,966.45 ล้านบาท ตามลำดับ

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ กรรมการที่ปรึกษา และอดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2566 ล่าสุดการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยมีมูลค่า 2,040.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 15.41% เมื่อเทียบกับปีก่อน (ในรูปเงินบาทมีมูลค่า 70,330.32 ล้านบาท -16.05%) ซึ่งการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไทยที่ขยายตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา และยังไม่สามารถกลับไปที่ระดับใกล้เคียงกับ 2562 ก่อนเกิดโควิดได้ ปัจจัยหลักมาจากฝั่งลูกค้ามีคำสั่งซื้อลดลง

ส่งออก“การ์เมนต์” ส่งสัญญาณฟื้น ในประเทศสินค้าจีนตีตลาดหนัก

“ช่วงหลังโควิดปีแรก วัตถุดิบขึ้นหมดทุกประเภท ลูกค้าต่างสั่งซื้อสินค้าเข้าไปเก็บสต๊อกจำนวนมากเนื่องจากเกรงต้นทุนจะสูงไปกว่านี้ ถัดมาหวังว่าโควิดจบแล้วจะขายได้ แต่ปรากฏว่าโลกเปลี่ยนไป เศรษฐกิจไม่ดีเลยทั่วโลก และปี 2565 ยังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่คิด และมีปัญหามาถึง ณ ปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเสื้อผ้า แต่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกหมวดเป็นแบบนี้หมด รองเท้า กระเป๋ามีปัญหาคล้ายกันคือลูกค้าสต๊อกบวม หรือยังมีสต๊อกมาก”

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจล่าสุดเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลูกค้าเริ่มกลับมาซื้อ โดยเฉพาะเสื้อผ้ากีฬาแบรนด์ใหญ่ ๆ เช่น ไนกี้ อาดิดาส และอื่น ๆ ได้จองการผลิตจากโรงงานเริ่มตั้งแต่ช่วงประมาณเดือน 4 (เมษายน )นี้เป็นต้นไป ดังนั้นตั้งแต่เดือนที่ 4 ของปีนี้ การผลิตและการส่งออกน่าจะค่อย ๆ ขยายตัวดีขึ้น และได้ตัวเลขกลับคืนมา ภาพรวมการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยในปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 5-8%

นายยุทธนา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่น่าห่วงและอาจกระทบกับเป้าหมาย ได้แก่ 1. สงครามในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้จบง่าย ๆ 2.เรื่องของต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่สูงขึ้นจากผลกระทบความขัดแย้งต่อเส้นทางการขนส่งทางทะเล (เช่นกรณีการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง) 3.สถานการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อโลก โดยเฉพาะทางฝั่งอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน และค่าเงินบาท ทั้งนี้หากสงครามไม่ขยายวง ราคาพลังงานไม่สูง เงินเฟ้อเข้าสู่โหมดที่ดีขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ซึ่งหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น

ขณะด้านการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องนุ่งห่มจากต่างประเทศ มองว่าน่าห่วง เพราะในแต่ละปีมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น (ปี 2564-2566 ไทยมีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่า 29,453 ล้านบาท , 40,105 ล้านบาท และ 47,515 ล้านบาทตามลำดับ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน ปี 2566 ล่าสุดมีการนำเข้า 22,964 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48% ของการนำเข้าในภาพรวม) ตัวอย่าง “กางเกงช้าง” ที่รัฐบาลมีเป้าหมายผลักดันเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ ที่ตามข้อมูลระบุว่าสัดส่วน 70% เป็นสินค้าที่ผลิตและนำเข้าจากประเทศจีน ส่วนอีก 30% เป็นสินค้าที่ผลิตในไทย

“กางเกงช้างนำเข้าที่เป็นข่าว ต้นทุนถูกมากแค่ตัวละ 30 บาท ซึ่งทิศทางแนวโน้ม ไทยจะมีการนำเข้าเสื้อผ้าโดยเฉพาะจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนถูกมาก เขาผลิตเป็นแมสทั้งเสื้อผ้ากีฬา ชุดลำลอง ชุดชั้นใน เสื้อผ้าเด็ก และอื่น ๆ โดยเข้ามาทุกทาง ทั้งทางบก ทางเรือ ทั้งที่ผ่านขั้นตอนศุลกากรถูกกฎหมาย และลักลอบนำเข้าในลักษณะเหมาตู้ หลีกเลี่ยงการสำแดงเอกสารการได้รับการยกภาษีสินค้าตามข้อตกลง FTA ไทย-จีน หรืออาเซียน-จีน กระทบโรงงานผลิตเสื้อผ้าในประเทศของไทยที่ทำตลาดในประเทศเป็นหลัก”

ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในปีที่ผ่านมามีโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่เป็นเอสเอ็มอีของไทยปิดตัวไป 60-70 โรง ส่วนหนึ่งหันไปนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อนำมาจำหน่ายแทน ทั้งช่องออฟไลน์ และออนไลน์มากขึ้น ซึ่งมองว่าคุมยากเพราะถือเป็นการปรับตัวของภาคธุรกิจดังนั้น ในภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ณ วันนี้ มองว่าอยู่ในช่วงหดตัว และต้องปรับตัวเพื่อรักษาลูกค้า และประคองตัวเองให้อยู่รอด