จีนเงินฝืด กระทบ SME ไทย-อาเซียนอ่วม สินค้าจีนราคาถูกทะลัก

12 ก.พ. 2567 | 01:18 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2567 | 06:42 น.
740

ภาวะเงินฝืดที่ค่อนข้างรุนแรงของจีน ท่ามกลางบริบทที่มีอัตราเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาฯ และภาคการผลิต ทำให้อุปสงค์ภายในจีนที่ยังอ่อนแอไม่สามารถดูดซับได้ ผลักดันให้สินค้าจีนราคาถูกทะลักสู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งไทยและอาเซียน 

 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยวานนี้ (11 ก.พ.) ระบุมีการคาดการณ์ว่า ภาวะเงินฝืดของจีน และ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง มีโอกาสจะยืดเยื้อไปได้อีกเกิน 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งภาวะเงินฝืดที่ค่อนข้างรุนแรงของจีนครั้งนี้ ท่ามกลางบริบทที่มี อัตราเงินเฟ้อ ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มี อุปทานส่วนเกิน ใน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และ ภาคการผลิต ทำให้อุปสงค์ภายในจีนที่ยังอ่อนแอไม่สามารถดูดซับได้

จึงมีการส่งออกสินค้าต่างๆ ในราคาถูกมาก ทุ่มตลาดมายังไทยและอาเซียน ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศของไทยและอาเซียน กดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และติดลบในบางประเทศ

สินค้าจีนราคาถูกทะลัก สร้างผลกระทบในต่างแดน

ทั้งนี้ จีนส่งออกภาวะเงินฝืดผ่านการทุ่มตลาด การที่ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้เกิดสภาวะผู้ซื้อหรือผู้บริโภคชะลอการซื้อ เพราะคาดว่าราคาจะปรับลดลงอีก ผู้ผลิตชะลอการผลิต เพราะขายไม่ได้ราคา ภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นเมื่อมีอุปทานสูง คือมีส่วนเกินของผลผลิตมากจากการลงทุนส่วนเกินหรือลงทุนอย่างไม่ระมัดระวัง และมีอุปสงค์ต่ำ การบริโภคลดลงมาก หรืออุปทานเงินลดลง และดอกเบี้ยสูง

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค.ของจีนติดลบเป็นเดือนที่ 4

ภาวะเงินฝืดและเงินเฟ้อลดต่ำลงดังกล่าว ยังเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้ผลิตภาพของแรงงานและทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก การเปิดเสรีที่ทำให้การแข่งขันมากเกินไป ภาวะเงินฝืดเป็นภาวะเจ้าหนี้ได้ประโยชน์ ขณะที่ภาระหนี้แท้จริงของลูกหนี้เพิ่มขึ้น มูลค่าแท้จริงของหนี้สินสูงขึ้น และเป็นภาวะที่คนที่ถือเงินสดได้ประโยชน์ เพราะอาจเกิดโอกาสของการลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตล้วนปรับตัวติดลบ ในส่วนของดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 16 เดือนติดต่อกัน ตัวเลขล่าสุดเดือนม.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลงติดลบ -2.5% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค.ติดลบเป็นเดือนที่ 4 เหมือนประเทศไทย โดยจีนมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ -0.8% ส่วนไทยมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ -1.1%

จีนมีอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิต ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนแอไม่สามารถดูดซับได้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินฝืด และอัตราเงินเฟ้อติดลบในจีนนั้น ย่ำแย่กว่าไทย ถึงแม้ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือนเหมือนกัน แต่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีที่แล้วของจีนติดลบ ขณะที่ไทยยังคงเป็นบวกอยู่

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า สถานการณ์เงินเฟ้อจีนติดลบเช่นนี้ จะส่งผลให้สินค้าราคาถูกมากมายหลากหลายชนิดทะลักเข้าตลาดไทยและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจการขนาดย่อมและขนาดเล็กที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนได้ ต้องออกจากตลาดไป