จีนเงินฝืด-ศก.ทรุดลามโลก สภาอุตฯ ร้อง “เศรษฐา”เร่งแก้ สินค้าจีนท่วมตลาดไทย

02 ก.ย. 2566 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2566 | 11:52 น.
931

พายุเศรษฐกิจซัดกระหน่ำจีน บริโภคภายในวูบ เกิดภาวะเงินฝืด หนี้ท่วม จีดีพีเสี่ยงต่ำ 5% ลามกระทบไทย-โลก นักวิชาการฟันธงจีนเอฟเฟกต์ทุบจีดีพีไทยปีนี้ต่ำ 3% ส่งออก ลงทุน เที่ยวไทยโตต่ำ 20 กลุ่มอุตฯมือก่ายหน้าผาก สินค้าจีนท่วมตลาดในประเทศ จี้รัฐบาล “เศรษฐา” เร่งช่วยชีวิต

ประเทศจีนหรือ "แดนมังกร" มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยในปี 2565 ล่าสุด จีนยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก เป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับ 3 ของโลก และรับเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่เวลานี้จีนกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโลกรวมถึงไทย

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เศรษฐกิจจีนปี 2566 กำลังประสบปัญหาหนัก จากขาดความเชื่อมั่นทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้มีโจทย์ด้านเศรษฐกิจหลายเรื่องที่ท้าทายได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปีนี้อาจต่ำกว่า 5% เนื่องจากตัวเลขด้านอุปสงค์ (ความต้องการ) ไม่ดีในหลายเรื่อง

จีนเงินฝืด-ศก.ทรุดลามโลก สภาอุตฯ ร้อง “เศรษฐา”เร่งแก้ สินค้าจีนท่วมตลาดไทย

  • 5 พายุเศรษฐกิจซัดกระหน่ำ

1.การส่งออกของจีนลดลงต่อเนื่อง โดยสัดส่วนการส่งออกของจีนลดเหลือเพียง 20% ของจีดีพีในปี 2565 (จากเมื่อ 10 ปีที่แล้วสัดส่วนสูงถึง 40%) อัตราการขยายตัวการส่งออกจากเคยขยายตัว 60-100% แต่ในปี 2565 ขยายตัวเพียง 4.5% ล่าสุดปี 2566 การส่งออกของจีนติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน (พ.ค.-7.5%, มิ.ย.-12.4% และก.ค.-14.5%)

2.การบริโภคภายในลดลง จากสัดส่วน 65% ของ GDP (ปี 2564) เหลือ 32% ในปี 2565 และคาดว่าสัดส่วนในปี 2566 จะลดลงต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดขายปลีกสินค้าช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคมลดลงจาก 18% เหลือ 2.5% ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation)โดยระดับราคาสินค้าผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมติดลบ 0.3% เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี (เคยเกิดขึ้นในปี 2564) ซึ่งเป็นภาวะตรงข้ามกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ

สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนกำลังถดถอย กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง คนไม่ใช้จ่าย เพราะรอให้ราคาสินค้าลดลงไปอีก นอกจากนี้บัณฑิตจบใหม่ปี 2566 จำนวน 12 ล้านคน มีโอกาสว่างงานสูง และไม่มีรายได้ การจับจ่ายลดลง

3.การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลง โดยติดลบตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา และครึ่งแรกปี 2566 ยังติดลบ 8% ขณะที่ราคาบ้านและคอนโดฯลดลงตลอดปี 2565 เป็นต้นมา

4.หนี้ท่วม โดยหนี้ 3 ส่วนของจีน ได้แก่ หนี้ครัวเรือน หนี้บริษัท และหนี้รัฐบาล ณ ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เพิ่มเป็น 282% ต่อจีดีพี

5.การลงทุนลดลง โดยการลงทุนของจีนใน 4 ส่วนได้แก่ การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมผ่านทางภาคเอกชนยังไม่ขยายตัว การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านทางเอกชนติดลบต่อเนื่อง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานผ่านงบประมาณรัฐบาล เป็นเครื่องมือเดียวที่มีอยู่ และการลงทุน FDI ลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปีนับตั้งแต่ปี 2541 เป็นเหตุทำให้รัฐบาลจีนออก “New Plan for FDI” โดยการให้วีซ่าและให้อนุญาตให้ต่างชาติอยู่อาศัยง่ายขึ้น

“แม้ว่ารัฐบาลจีนกำลังใช้สรรพกำลังทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัวตามเป้า 5% แต่ดูเหมือนว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมายังไม่ได้ผลเท่าที่คาดหวังไว้”

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

  • กระทบไทยเสี่ยง GDP ต่ำ 3%

รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาจีน ใน 3 เรื่องใหญ่ 1.ในปี 2565 ส่งออกไทยไปจีนมีสัดส่วน 12% ของการส่งออกในภาพรวม ปี 2565 ขณะที่การลงทุน FDI ในไทยปี 2565 จีนขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นอันดับ 1 และปี 2562 ก่อนเกิดโควิด นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยมากสุด 11 ล้านคน จากเศรษฐกิจจีนที่กำลังประสบปัญหาต่าง ๆ ข้างต้น จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีนแน่นอน จากเดิมคาดว่าไทยจะส่งออกไปจีนในปีนี้มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 0.3% มองว่าปีนี้การส่งออกของไทยไปจีนในภาพรวมจะไม่ขยายตัว (0%) จาก GDP จีนคาดจะขยายตัวได้ 4.5-4.8% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5%

นอกจากนี้ FDI จากจีนที่จะเข้ามาในไทยและอาเซียนปีนี้ จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยเป้าหมาย 5 ล้านคนในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งจะส่งผลทำให้ GDP ไทยปี 2566 มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 3% จากส่งออกไทยมีสัดส่วน 65% ของจีดีพี และไทยพึ่งพาตลาดจีนถึง 12% ของการส่งออกทั้งหมด

  • สินค้าจีนถล่มร้องรัฐบาลช่วย

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นอกจากส่งออกไทยไปจีนจะได้รับผลกระทบส่งออกลดลง และสินค้าไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดอื่นๆ แล้ว อีกด้านหนึ่งเวลานี้ผู้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศของไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสินค้าจีนถูกส่งมาขายในไทยและในอาเซียนในราคาต่ำ ผ่านทุกช่องทางทั้งออนไลน์ และออฟไลน์

ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 20 กลุ่ม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกที่ได้ร้องเรียนมายัง ส.อ.ท.และคาดว่าจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปแบบนี้

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบแล้ว อาทิ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ปิโตรเคมี เซรามิก แก้วและกระจก เครื่องมือแพทย์ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“สินค้าจีนเวลานี้ทะลักเข้าไทยและทุกประเทศในแถบอาเซียนทุกช่องทาง โดยสินค้าที่ขายกันในออนไลน์เวลานี้สัดส่วนกว่า 90% เป็นสินค้าจากจีน ซึ่งไทยมีข้อตกลงกับจีนว่าสินค้าออนไลน์ราคาไม่เกิน 1 หมื่นบาทไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาสินค้าจีนเข้ามาถล่มเอสเอ็มอีในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเสียหายครั้งนี้ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติ จะส่งผลให้ภาคการผลิตของเราอาจต้องหยุดหรือเลิกกิจการไปจำนวนมาก หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาพิจารณาและทบทวนเรื่องนี้อย่างซีเรียส โดยเรารอรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วจะรีบเข้าไปพบในนาม กกร.เพื่อหารือมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน”

  • จี้เร่งแก้ปัญหาวีซ่าดึงจีนเที่ยว

ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่เวลานี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ ตั้งเป้าไว้ที่ 5 ล้านคน ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาแล้วเกือบ 2 ล้านคน ที่ยังไม่เข้ามามาก เป็นผลกระทบจาก 2 ส่วนสำคัญคือ เศรษฐกิจภายในของจีนไม่ดี ขณะที่ไทยยังมีปัญหาในการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนที่มีกระบวนการกรอกข้อมูลมาก ทำให้ไม่สะดวก และเอื้อต่อการตัดสินใจเข้ามาเที่ยว

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ดังนั้นไทยต้องปรับลดขั้นตอนการกรอก e-VISA ให้น้อยลง หรือ Free VISA และเพิ่มเที่ยวบินให้มากขึ้นในช่วงไฮซีซั่นที่จะมาถึง เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยให้ได้ตามเป้าหมาย เพราะเวลานี้ไทยถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดด้านการท่องเที่ยว จากการเดินทางไปยุโรปหรือสหรัฐฯมีค่าใช้จ่ายสูง

อนึ่ง การค้าไทย-จีน ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ในรูปเงินบาทมีมูลค่ารวม 2.09 ล้านล้านบาท (-1.59%) โดยไทยส่งออก 6.95 แสนล้านบาท (-1.98%) นำเข้า 1.40 ล้านล้านบาท (-1.40%) ไทยขาดดุลการค้าจีน 7.07 แสนล้านบาท