"แลนด์บริดจ์"ล่อใจ บิ๊กทุนข้ามชาติ เศรษฐา -คมนาคมลุย เต็มสูบ

20 ธ.ค. 2566 | 10:39 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2566 | 11:05 น.

ทุนยักษ์ข้ามชาติสนลงทุน แลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้าน “เศรษฐา-คมนาคม” โรดโชว์ รอบโลกทั้งญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป เตรียมลุยปีหน้า ชงครม.อนุมัติก่อสร้าง เปิดประมูล PPP ปี 68 ด้านเอกชนระนอง ตีปี๊บดันโครงการเป็นรูปธรรมรับครม.สัญจร

 

โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง)หรือแลนด์บริดจ์ อภิมหาโปรเจ็กต์ มูลค่า 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลมีหมุดหมายสร้างจุดเปลี่ยน ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับโลก ที่คณะของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเดินสายโรดโชว์ ดึงบริษัทชั้นนำต่างชาติเข้าลงทุน ล่าสุด ได้รับเสียงตอบรับจากนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น หลัง เป็นประธานการเปิดสัมมนางาน “Thailand Landbridge Roadshow” แจ้งข้อมูลภาพรวมของโครงการ “แลนด์บริดจ์” และโอกาสทางธุรกิจ ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่18ธันวาคมที่ผ่านมา

ยักษ์ญี่ปุ่นสนลงทุน

 ครั้งนี้มีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทสนใจร่วมเข้ารับฟัง นายเศรษฐา สะท้อนว่าปัจจุบันปริมาณสินค้าที่ขนถ่ายผ่านช่องแคบมะละกา 60% พบว่ามีความแน่น ส่งผลทำให้ เกิดควา ล่าช้าในการขนส่งต้นทุนอาจสูงและอาจเกิดอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น โครงการแลนด์บริดจ์ ไม่ใช่การแย่งธุรกิจ เพราะกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 10 ปี ทำให้ปริมาณการค้าทางทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้น

ทั้งนี้เพื่อนบ้านทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ที่คาดว่ารายได้ตรงนี้จะหายไป เพราะผลสำรวจเบื้องต้นการค้าขายทางเรือจะสูงขึ้น แต่หากไม่มีจะกลายเป็นปัญหาได้ หากสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ได้จะช่วยการขนส่งของทั้งโลก เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ให้เติบโตไปด้วยกัน

เช่นเดียวกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นับเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างกระทรวงคมนาคม และ MLIT นำเสนอการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน พร้อมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เชิญชวนให้บริษัทโลจิสติกส์ และบริษัทเดินเรือขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าวของประเทศไทยด้วย

มีรายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นให้ความสนใจร่วมพบปะจำนวนมาก กว่า10 รายทั้งนี้การนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นรูปแบบเดียวกับการโรดโชว์กับนักลงทุนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ขณะเดียวกันพบว่าในช่วงที่ได้ร่วมเดินทางกับคณะนายกรัฐมนตรีไปประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปก (APEC) ซึ่งมีนักลงทุนสหรัฐฯ เข้าร่วมหารือกว่า 20 บริษัท และยังมีนักลงทุนในหลายประเทศมีความสนใจ เช่น สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส จีน และตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งจะมีแผนโรดโชว์ต่อไป

แลนด์บริดจ์

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า มีแผนไปโรดโชว์ต่างประเทศในแถบทวีปยุโยป, เอเชีย, และตะวันออกกลาง เช่น จีน, เกาหลี, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวิสเซอร์แลนด์, ซาอุดิอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ โดยการโรดโชว์ในครั้งนี้จะมุ่งเน้นที่ผู้ประกอบการสายการเดินเรือขนาดใหญ่,ผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่มีเงินทุนและมีเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาโครงการฯต่อได้ ซึ่งระยะเวลาในการโรดโชว์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567
 

 “PPP” ทั้งโครงการปี68

ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์ยังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีก 2 ครั้ง ประกอบด้วย การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ภายในเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ภายในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อจัดทำรายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุภาพ (EHIA) ภายในเดือนเมษายน 2567 คาดว่าผลการศึกษาของโครงการฯจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 นอกจากนี้ตามแผนก่อนเสนอครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไป หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลในรูปแบบ PPP พร้อมกันทั้งโครงการฯ ไม่เกินกลางปี 2568 และลงนามเอกชนลงทุนในไตรมาส 3 ของปี 2568 คาดว่าจะทยอยเปิดโครงการในระยะแรกได้ภายในปี 2573

ส่วนการประมูลของโครงการฯ เบื้องต้นเป็นการประมูลรวมทุกแพ็คเก็จ ประกอบด้วย ท่าเรือนํ้าลึก, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟ ซึ่งใช้รูปแบบการลงทุน International Bidding โดยให้สิทธิ์เอกชนในไทยและต่างประเทศ เป็นผู้ลงทุน 100% ส่วนรัฐจะให้สัมปทานพื้นที่ระยะเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายใดสามารถบริหารพื้นที่ได้น้อยที่สุดตามที่ภาครัฐกำหนดจะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นผู้รับสัมปทานด้วย

สำหรับวงเงินในการลงทุนทั้งโครงการฯ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ มีระยะเวลาในการก่อสร้างรวม 8 ปี โดยมีรูปแบบการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร-ระนอง เป็นพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าฝั่งชุมพร-ระนอง และมูลค่าลงทุนเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ โดยระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท และระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท

ด้านการก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 6 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2574 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 12 ล้าน TEU และระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU

ขณะที่การก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 4 ล้าน TEU ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2575 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 8 ล้าน TEU

ระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 14 ล้าน TEU และระยะที่ 4 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2579 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2581 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU

แหล่งข่าวจากสนข. กล่าวต่อว่า ส่วนการเวนคืนที่ดินของโครงการแลนด์บริดจ์นั้น เบื้องต้นจะดำเนินการเวนคืนที่ดินทั้งฝั่งรถไฟและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ความกว้าง 80-100 เมตร ตลอดแนวเส้นทาง ขณะที่พื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งท่าเรือจะดำเนินการถมทะเล ซึ่งมีพื้นที่บริเวณทางเข้า-ออกที่ต้องเวนคืนที่ดินบ้างเล็กน้อย ขณะการคัดค้านเบื้องต้นพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าจะดำเนินการอย่างไรและต้องหาทางให้อยู่ร่วมกันได้


เอกชนระนองตีปี๊ป ครม.สัญจร

กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีกำหนดการประชุมครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร)ที่ จังหวัดระนอง เบื้องต้นกำหนดวันประชุม ครม. วันที่ 23 มกราคม 2567 โดยใช้ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ศาลากลางจังหวัดระนองเป็นสถานที่ประชุมขณะที่ภาคเอกชนระนอง เชื่อว่าจะช่วยเร่งรัดโครงการแลนด์บริดจ์ ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายธัญวิทย์ ธรรมสุนทร กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเลขานุการสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ แสดงความเชื่อมั่นว่าครม.สัญจรจังหวัดระนอง จะมีการเร่งรัดโครงการแลนด์บริดจ์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นได้จากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดในที่ประชุมผู้นำเอเปก ที่สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อดึงดูดความภาคเอกชนให้สนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น

นอกจากโครงการแลนด์บริดจ์แล้ว จังหวัดระนอง จะขอให้รัฐบาลช่วยเร่งรัดการแก้ปัญหาที่ดินบริเวณสะพานปลาประมาณ 512 ไร่ ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วรับทราบปัญหาและดำเนินการไปแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการออกสัญญาเช่าจากกรมธนารักษ์ จึงขอให้ช่วยเร่งการดำเนินงานให้ลุล่วงโดยเร็ว