”ท่าเรือระนอง” ศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าไป“ BIMSTEC” รับระเบียงเศรษฐกิจใต้  

05 ธ.ค. 2566 | 11:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2566 | 19:07 น.
691

”ท่าเรือระนอง” วางหมุดหมาย ท่าเรือยุทธศาสตร์ ศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าไป“ BIMSTEC” รับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้  

 

ท่าเรือระนองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามันของไทยที่สามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าได้เพียงแห่งเดียว อีกทั้งยังมีมาตรฐานสากลเมื่อเทียบกับท่าเรือเอกชนโดยรอบ ไม่เพียงแต่ในฐานะของท่าเรือที่่สนับสนุนกิจกรรมด้านการค้าระหว่างประเทศท่าเรือระนองยังเป็นท่าเรือที่รองรับการเติบโตของอุุตสาหกรรมการขุดเจาะและสํารวจก๊าซธรรมชาติ

 กทท.ได้ ดำเนินการพัฒนาท่าเรือระนองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้เป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญกับการพัฒนาเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางฝั่งทะเลอันดามัน การขนส่งต่อเนื่องภายในประเทศ และระหว่างประเทศ เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC ประกอบด้วยบังกลาเทศ  อินเดีย  เมียนมา ศรีลังกา และไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

รองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ภายใต้กรอบ Western Gateway โดยจะส่งผลให้การขนส่งสินค้าไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ทำได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ กทท. มีแผนพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือระนอง ตั้งเป้าให้สามารถรองรับตู้สินค้า ขยายหน้าท่าเทียบเรือให้สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่มีขนาด 12,000 เดทเวทตัน สำหรับท่าเทียบเรือที่ 2 จะดำเนินการซ่อมแซมโครงสร้างที่ชำรุดเพื่อให้มีความปลอดภัยในการรองรับเรือบรรทุกสินค้า

สำหรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ 3 และลานวางตู้สินค้าเป็นโครงการที่เสริมสร้างศักยภาพของท่าเทียบเรือและยกระดับการให้บริการของท่าเรือระนองในระยะยาวเพื่อรองรับตู้สินค้า จากกลุ่มประเทศ BIMSTEC และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ     แนวตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) และมุ่งเน้นสาธารณรัฐประชาชนจีน

ยุทธศาสตร์ ท่าเรือระนอง

ในปี 2558 - 2564 กทท. ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง กทท. (ท่าเรือระนอง) กับท่าเรือ ในกลุ่มประเทศ BIMSTEC ได้แก่ เมียนมา อินเดีย ศรีลังกา และบังกลาเทศ โดยกรอบเนื้อหาของบันทึกความเข้าใจ กทท. (ทรน.) และท่าเรือในกลุ่มประเทศ BIMSTEC เป็นการสร้างความร่วมมือ เชื่อมโยงเครือข่ายของท่าเรือ อุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่าเรือเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่ง มีการประชุมดำเนินงานเชิงปฏิบัติการร่วมกัน (Joint Working Group Meeting) ภายใต้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันโครงการพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าทางรางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นเส้นทางรถไฟที่เชื่อมจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนานมาที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว และมีปลายทางที่เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road Initiative)    ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ ในปี 2565 กทท. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง กทท. (ท่าเรือระนอง) กับบริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด

เพื่อส่งเสริมการขนส่งตู้สินค้าในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจาก สป.จีน - สปป.ลาว - ไทย ไปสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC ผ่านท่าเรือระนอง โดยไม่ผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้ลดระยะเวลาการขนส่งและต้นทุนการขนส่งในภาพรวมการส่งเสริมธุรกิจบรรทุก - ขนถ่ายตู้สินค้า (Container) ภายใต้โครงการ Land to Sea ซึ่ง กทท. ได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการของท่าเรือระนอง ยกระดับโครงข่ายการขนส่งและระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศ