ภายหลังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้ทุกฝ่ายรอการอนุมัติให้ดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในขั้นตอนต่อไปนั้น
นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานคณะกรรมการหอการค้า จ.ระนอง เปิดเผยว่าเอกชนระนองอยากกระตุ้นไปยังรัฐบาลอีกครั้ง ให้เร่งเดินหน้า โครงการเส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เพราะถือว่าเรื่องดังกล่าวมีความคืบหน้าในการดำเนินงาน มั่นใจว่าโครงการจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญทำให้การเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการขนส่งของไทย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเมืองท่าขนถ่ายสินค้าฝั่งอันดามัน ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มีเมืองท่าในย่านนี้
หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง เชื่อมโยงโครงข่ายและการบริหารจัดการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพื่อมีการให้บริการที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยทั้งในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง และระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการขยายฐานการผลิตตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่เชื่อมโยงชานเมืองและหัวเมืองหลักในเส้นทางที่มีความสำคัญ
การพัฒนาทางรถไฟสายใหม่เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เพื่อขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟ ระหว่างพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยกับพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในการเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ รวมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าในระบบรถไฟ (Feeder Line) จากพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจังหวัดต่างๆ เข้ากับโครงข่ายหลักของประเทศ
นายนิตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันท่าเรือระนองให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน และประเทศในกลุ่มบริมเทคตามแผน AEC – BIMSTEC MODEL ที่พุ่งเป้าให้ท่าเรือเรือระนองเป็นตัวศูนย์กลางเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสจิกส์ทางทะเลจากอาเซียนสู่ประเทศกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นหลังบริษัทสายการเดินเรือได้เข้ามาเปิดเส้นทางการเดินเรือที่ท่าเรือระนอง แม้ว่าขณะนี้จะได้หยุดให้บริการเนื่องจากขาดการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งที่เป็นระบบ แต่หากระบบรางหรือเส้นทางรถไฟเกิดขึ้นการพัฒนาในจุดนี้คงจะเดินหน้าได้อย่างแน่นอน
ที่ผ่านมาการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)ได้ปัดฝุ่นโครงการคอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ดที่ จ.ชุมพรอีกครั้ง หลังโครงการหยุดชะงักมาระยะหนึ่ง โดยมีการพูดคุยกับการรถไฟแห่งประเทศไทยที่จะดำเนินการต่อในโครงการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนท่าเรือระนอง และจะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการขนถ่ายสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์จากฝั่งอ่าวไทยมายังฝั่งอันดามัน โดยการขนส่งจากแหลมฉบังมายัง จ.ชุมพรพักถ่ายที่ศูนย์คอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ดที่ชุมพรเพื่อขนส่งต่อมายังท่าเรือระนอง กระจายสู่ประเทศในฝั่งทะเลอันดามันต่อไป
แม้ว่าจากการศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้สูง รวมทั้งยังลดต้นทุนได้มากกว่าที่จะไปใช้ท่าเรือที่สิงคโปร์ ซึ่งอัตราค่าบริการสูงมาก ขณะนี้ทาง การท่าเรือกำลังศึกษารายละเอียดก่อนที่จะเสนอเรื่องงบการลงทุนต่อรัฐบาลต่อไป จะสามารถเชื่อมโยงท่าเรือระนองกับท่าเรือในอ่าวไทยได้และจะเป็นจุดสำคัญที่จะพัฒนาต่อยอดการเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์อื่นๆต่อไป และทราบว่าท่าเรือระนอง มีแผนการขยายท่าเรือ รองรับการขยายตัวในอนาคตข้างหน้า เพิ่มศักยภาพรองรับเรือใหญ่ได้ และการเข้าสู่อาเซียน และเป็นท่าเรือสากลที่จะเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคอาเซียนได้
โครงการพัฒนาและขยายโครงข่ายเส้นทางรถไฟสายใหม่จากจังหวัดชุมพร - ท่าเรือน้ำลึกระนอง สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะสนับสนุนการเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคเข้าด้วยกัน และสนับสนุนศักยภาพกลุ่มจังหวัดภาคใต้จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย