คลื่นนักธุรกิจจีนย้ายฐานแห่ลงทุนไทย เปิดสถิติยื่นคำขอ 5.26 แสนล้าน

03 ส.ค. 2566 | 18:31 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 18:54 น.
3.0 k

คลื่นนักลงทุนจีน ชิ่งหนีเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า หาช่องย้ายฐานการลงทุนมาไทย บีโอไอ พบสัญญาณเข้ามาต่อเนื่อง ทั้ง EV อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล สถิติ 6 ปีจีนยื่นคำขอ 900 โครงการ มูลค่ากว่า 5.26 แสนล้าน

สถานการณ์ทางด้านการลงทุนในประเทศไทย อาจได้รับข่าวดีจากอานิสงส์ของคลื่นนักลงทุนจากจีน ทั้งธุรกิจชาวจีนและธุรกิจของนักลงทุนจากต่างชาติที่อยู่ในประเทศจีน เตรียมออกมาลงทุนนอกประเทศมากขึ้น หลังจากเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอยู่ในช่วงของการชะลอตัว และฟื้นตัวต่ำกว่าที่มีการประเมินกันไว้

ส่งผลให้นักลงทุนมองหาช่องทางขยายการลงทุนออกมาต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน เพราะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และมีมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะ “ไทย” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ “จีน” สนใจเข้ามาลงทุน

บีโอไอเห็นสัญญาณย้ายฐานมาไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สัญญาณของนักลงทุนจีนที่ย้ายฐานออกมาจากประเทศจีนเริ่มเห็นชัดมากขึ้น โดยกลุ่มนักธุรกิจจีนกลุ่มใหม่ๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย กลุ่มหลัก ๆ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะใน 2 กลุ่มแรกทั้ง EV และ อิเล็กทรอนิกส์ นั้น พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

สำหรับอุตสาหกรรม EV ที่ผ่านมาถือว่าประเทศไทยมีความโดดเด่นในภูมิภาค จากมาตรการส่งเสริมของทางภาครัฐที่ออกมาอย่างชัดเจน โดยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV ของภูมิภาค

โดยมีนักลงทุนในอุตสาหกรรม EV ของจีนเข้ามาลงทุนชัดเจนแล้วหลายราย เช่น เอ็มจี, เกรท วอลล์ มอเตอร์, บีวายดี และ เนต้า รวมทั้งมีอีก 2 รายที่ประกาศแผนลงทุนในไทยแล้ว ทั้ง ฉางอัน ออโตโมบิล และ จีเอซี ไอออน

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

EV – อิเล็กทรอนิกส์ มาไทยแล้ว

นายนฤตม์ กล่าวว่า ตอนนี้มีแนวโน้มที่ดีที่ผู้ผลิตรถยนต์ EV จากประเทศจีน สนใจเข้ามาลงทุนในไทย และนอกเหนือจากรายที่ประกาศแผนลงทุนในไทยแล้ว ยังมีค่ายรถยนต์ EV จากจีนอื่น ๆ กำลังพิจารณาเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม และการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น ไม่เพียงแค่การผลิตรถยนต์เท่านั้น เพราะเมื่อผู้ผลิตเข้ามาแล้ว ยังพาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตรถยนต์ตามมาด้วย ทั้งแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ EV ด้วย

ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้ก็มีสัญญาณการลงทุนจากจีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมทั้งความขัดแย้งในขั้วมหาอำนาจ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบ และมีความจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตที่อยู่นอกประเทศจีน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจในอนาคต ทำให้นักลงทุนหลายรายหันมาแสวงหาการลงทุนในอาเซียน 

โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย เพราะไทยมีความโดดเด่นเรื่องซัพพลายเชนที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ไทยเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับหลายประเทศ จึงเป็นจุดยุทธ ศาสตร์หลักของนักลงทุนจากจีนที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

“ช่วงหลังๆ เห็นได้ชัดว่ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จากจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีบางส่วนที่เป็นบริษัทของไต้หวันที่เข้าไปลงทุนในจีนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาไต้หวันได้ยกทีมเข้ามาดูช่องทางการลงทุนในไทย เช่น กลุ่มผู้ผลิต PCB หรือกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ โดยประกาศชัดเจนว่าจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักในอาเซียน และนอกจาก 2 กลุ่มนี้ ยังมีกลุ่มดิจิทัลที่เข้ามาลงทุนในไทย เช่น หัวเว่ย อาลีบาบา และมีการขยายการบริการระบบคลาวน์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลในไทยเพิ่มเติมด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

 

ภาพประกอบข่าว คลื่นนักธุรกิจจีนย้ายฐานแห่ลงทุนไทย

สถิติชัดจีนแห่ลงทุน 5.26 แสนล้าน

จากการตรวจสอบข้อมูลสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ปี 2565 ของบีโอไอ พบว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,070 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 433,971 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 42% ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น 36% 

โดยหากนับเฉพาะจำนวนเงินลงทุนจะพบว่า เป็นเงินลงทุนจากนักลงทุนจีนสูงที่สุด คือ 77,381 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ภายใต้จำนวนโครงการทั้งสิ้น 158 โครงการ ขณะที่ไต้หวัน และ ฮ่องกง ก็เป็นกลุ่มที่ติดในกลุ่ม 6 อันดับแรกที่มีเงินลงทุนในประเทศไทยด้วย

ขณะที่ข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 6 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.66) พบว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 507 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 304,041 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 33% ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น 141% 

โดยจำนวนโครงการต่างชาติทั้งหมดที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนครึ่งปี 2566 จีนมีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด 132 โครงการ คิดเป็น 26% ของโครงการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด สำหรับมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุดมาจากจีนเช่นกัน มูลค่ารวม 61,526 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริม

ทั้งนี้เมื่อรวบรวมข้อมูลตัวเลขจากบีโอไอพบว่าในช่วงเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงครึ่งแรกของปี 2566 พบว่ามียอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนจีนรวม 900 โครงการ วงเงินรวม 5.26 แสนล้านบาท

ยอดลงทุนจีนในนิติบุคคลไทย 3 แสนล้าน

เมื่อตรวจสอบข้อมูลภาพรวมการลงทุนจากต่างชาติในนิติบุคคลไทย โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบมูลค่าการลงทุนของนิติบุคคลที่ต่างชาติร่วมลงทุน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 รวมทั้งสิ้น 118,364 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 9.63 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนของชาวจีนในนิติบุคคลไทย มีมูลค่าการลงทุนรวม 304,963 ล้านบาท โดยมีจำนวนนิติบุคคลคงอยู่ 23,043 ราย

โดย 5 ประเภทธุรกิจที่นักลงทุนสัญชาติจีนลงทุนสูงสุด คือ

  1. การผลิตยางล้อและยางใน จำนวน 15 ราย มูลค่าการลงทุน 16,563 ล้านบาท
  2. การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริม อื่นๆ สำหรับยานยนต์ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นจำนวน 101 ราย มูลค่าการลงทุน 13,568 ล้านบาท
  3. การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น จำนวน 46 ราย มูลค่าการลงทุน 12,043 ล้านบาท
  4. การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย 1,940 ราย มูลค่าการลงทุน 11,480 ล้านบาท
  5. การผลิตและการส่งไฟฟ้า 67 ราย มูลค่าการลงทุน 11,174 ล้านบาท

ขณะที่อุตสาหกรรมการบินนั้น ปัจจุบันมีในส่วนของธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ จ. เชียงราย โดยพบว่ามีนักลงทุนจากเชียงรายร่วมกับกลุ่มบริษัท Aviation Industry Corporation of China (AVIC) จากจีน จัดตั้งบริษัท เชียงราย เอเวชั่น โฮวดิ้งส์ จำกัดเช่าพื้นที่บริเวณสนามบินเชียงราย ดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยานขึ้น คาดว่าเปิดให้บริการประมาณเดือน ก.ค.67 โดยการลงทุนดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนราว 722 ล้านบาท

 

สถิติการลงทุนจากจีน ฐานเศรษฐกิจรวบรวมจากข้อมูลของบีโอไอ

 

เอกชนตั้งคณะทำงานร่วมลงทุน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ไทยให้ความสำคัญในการดึงการลงทุน ด้วยเหตุนี้หอการค้าไทย และสถานทูตจีนประจำประเทศ ไทยจึงได้ร่วมกันตั้งคณะทำงาน Task Force เพื่อศึกษาการขยายการลงทุนของจีนในไทย ปัจจุบันเห็นสัญญาณนักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งรถ EV อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของบีโอไอ

เห็นได้จากก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์ใหญ่ของจีนได้ทยอยเข้ามาทำการตลาดในไทย และเวลานี้ยังได้เข้ามาลงทุนผลิตและประกอบ โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เบื้องต้นคาดจะมีการลงทุนจากกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ใน 1 ปีข้างหน้า ทั้งนี้หอการค้าฯจะได้ร่วมมือใกล้ชิดกับบีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดึงการลงทุนจากจีนอย่างต่อเนื่อง

“ในระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้ ภาพที่เราเห็นคือนักลงทุนต่างประเทศยังมีความลังเล และชะลอการลงทุน แสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งหากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าก็จะส่งผลให้การจัดทำงบประมาณ และนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ล่าช้าไป ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย”