Circular Economy ปลุกแฟชั่น dead stock สวยไม่เป็นรองใคร

23 ก.ค. 2566 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 09:25 น.

แฟชั่นเสื้อผ้าไทยเด้งรับ Circular Economy ชี้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยมีผ้า dead stock กว่า 350 ล้านตัน หากนำมาผลิตเสื้อจะได้กว่า 700 ล้านตัว เครือสหพัฒน์ส่ง “บูติคนิวซิตี้” จับมือมอร์ลูป สตาร์ทอัพ ผลิตสตรีทแวร์ คอลเลคชั่น ลิมิเต็ด อิดิชั่น

กระแสฟาสต์แฟชั่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดการผลิตเสื้อผ้ากว่า 1,000 ล้านชิ้นต่อปี ในขณะที่ทั่วโลกมีประชากรเพียง 8,000 ล้านคน นั่นหมายความว่าแต่ละปีมีการผลิตเสื้อผ้าเกินความจำเป็น และสิ่งที่น่ากลัวกว่าฟาสต์แฟชั่น คือ Cheap Fashion เพราะแม้จะใช้วัตถุดิบต้นทางที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรเหมือนกัน แต่ถ้าตัดเย็บไม่ดี ทำไม่สวย เสื้อผ้าชิ้นนั้นจะเป็นการซื้อมาแล้วทิ้ง ไม่ถูกนำมาใช้งาน ซึ่งเป็นอีกมุมใหม่ ที่หากแบรนด์สามารถสื่อสารได้และผู้บริโภคเข้าใจเรื่องนี้ จะทำให้ขยะแฟชั่นลดลงและเกิดเป็น “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy)

นางสาวธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ ผู้ร่วมก่อตั้ง “มอร์ลูป” (moreloop) แพลตฟอร์มผ้าส่วนเกินจากอุตสาหกรรมสิ่งทอออนไลน์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันในอุตสาหกรรมสิ่งทอในไทยมี ผ้าส่วนเกินหรือ dead stock กว่า 350 ล้านตัน หรือสามารถนำมาผลิตเสื้อได้ประมาณ 700 ล้านตัว

Circular Economy ปลุกแฟชั่น dead stock สวยไม่เป็นรองใคร

เป็นของเสีย (waste) ที่ซ่อนอยู่ในระบบอุตสาหกรรมของไทยยังไม่รวมกับต่างประเทศ ดังนั้นมอร์ลูป จึงตั้งเป้าหมายดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการนำผ้าส่วนเกินหรือ dead stock เหล่านั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ผ่าน 2 บิสิเนสโมเดลหลักคือ

1. แพลตฟอร์มจำหน่ายผ้าส่วนเกินจากระบบอุตสาหกรรม

2. ผลิตเสื้อผ้าจากผ้าส่วนเกิน

“มอร์ลูปเป็นแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพคนกลางที่รวบรวมเอาข้อมูล (database) ของผ้าเหลือหรือผ้า dead stock หรือที่เราเรียกว่า “ผ้าเหงา” มาขึ้นตลาดออนไลน์ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ เพราะกว่าผ้าเหล่าจะเกิดมาต้องผ่านกระบวนการ ใช้สารเคมี ใช้ทรัพยากรและทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก แต่ด้วยระบบของอุตสาหกรรมทำให้ผ้าไม่ได้ถูกใช้ทั้งหมด 100%

ไอเดียของเราคือถ้าสามารถหมุนเวียนทรัพยากรเหล่านี้กลับมาอยู่ในระบบได้ก็จะกลายเป็น “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy ปัจจุบันเรารวบรวมฐานข้อมูลของผ้าจากโรงงานทั่วประเทศไทยได้กว่า 70 โรงงาน มีผ้าบนระบบมากกว่า 3,000 รายการ ซึ่งก็ยังไม่ถึง 1% ของของเสียที่มีในประเทศเรา”

Circular Economy ปลุกแฟชั่น dead stock สวยไม่เป็นรองใคร

ปัจจุบันมีแบรนด์แฟชั่นและผู้ประกอบการเสื้อผ้าหันมาใช้ผ้า dead stock เยอะขึ้น ไม่ว่าจะผ่าน มอร์ลูป หรือแม้กระทั่งใช้ผ้าที่เหลือจากกระบวนการตัดของตัวเอง ซึ่งการที่ผู้ประกอบการหันมาเลือกใช้ของเหลือเหล่านี้โดยใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป จะช่วยให้ทรัพยากรเหล่านี้ถูกใช้อย่างมีคุณค่ามากขึ้น

ในส่วนของของการผลิตเสื้อผ้าจากผ้าส่วนเกินที่ผ่านมา มอร์ลูปได้ผลิตเสื้อให้กับลูกค้าองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์ระดับสหประชาชาติ บริษัทมหาชน เอกชน ธนาคารและStart Up ซึ่งอาจมีคำสั่งผลิตกว่า 7,000-8,000 ตัวมาตลอด 3 ปีต่อเนื่อง โดยบริษัทจะนำเสนอชนิดของผ้าที่ใช้ได้และเหมาะกับคอลเลคชั่นที่ลูกค้าต้องการ ส่วนดีไซเนอร์จะเลือกสีที่ใช้ได้และลูกค้าชอบจนออกมาเป็นคอลเลคชั่นต่างๆ ที่สำคัญคือต้องไม่สร้างของเสียขึ้นมาเพิ่ม

“โมเดลที่ 2 คือ การผลิตเสื้อผ้าจากผ้าส่วนเกิน อาจจะเหนื่อยในการแมชชิ่งเพราะมีข้อจำกัดทุกอย่างทั้งชนิดผ้า ปริมาณ สี สิ่งสำคัญคือการสื่อสารที่ดี เพราะการเห็นสินค้าสำเร็จรูปจะเข้าใจง่ายกว่า ดังนั้นเราร่วมมือกับหลายๆแบรนด์ที่มีหน้าร้านเพราะสามารถช่วยสื่อสารได้ หลายๆแบรนด์ที่มาใช้ เราก็จะขึ้น Sold Out หรือ limited edition เยอะเพราะเราโชว์ความลิมิตให้เป็นโพสิทีฟ”

ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์

นางสาวธมลวรรณ กล่าวอีกว่า ในการนำผ้าส่วนเกินหรือ dead stock เหล่านั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้กระบวนการผลิตสินค้าของmore loopไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เนื่องจากไม่มีการผลิตผ้าใหม่ และการนำผ้าส่วนเกินมาใช้ เท่ากับเป็นการลดขยะที่จะต้องนำไปเผาทำลายหรือฝังกลบ เมื่อผ้าหมดอายุการใช้งานหรือเสื่อมสภาพ

ล่าสุดมอร์ลูปร่วมมือกับเอ-เมส ในการสร้างสรรค์Mimi sustainability collectionโดยเลือกผ้าที่มีความเหมาะสมที่มีอยู่ในระบบ จากนั้นดีไซน์เสื้อผ้าออกมาในแนวสตรีทแวร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบแฟชั่นที่แตกต่างมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งแต่ละคอลเลคชั่นจะมีแบบและสีไม่เหมือนกันเกิดจากจำนวนผ้าส่วนเกินที่มีทำให้ได้เสื้อผ้าที่เรียกได้ว่าเป็น limited edition”

Circular Economy ปลุกแฟชั่น dead stock สวยไม่เป็นรองใคร

อีกกลุ่มธุรกิจที่ถือเป็นผู้นำแฟชั่นเข้าสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy คือ “บูติคนิวซิตี้” ในกลุ่มสหพัฒน์ โดยนางสาวประวรา เอครพานิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า “แฟชั่น” เคยถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

เพราะในกระบวนการผลิต มีทั้งการฟอก การย้อมสี รวมทั้งการตัดเย็บและเหลือผ้าส่วนเกิน แต่ปัจจุบันมีมีการตื่นตัวและนำหลัก Circular Economy เข้ามาลดการใช้ทรัพยากรประเภทวัสดุบริสุทธิ์หรือ Virgin material มากขึ้น

ในปี 2565 “บูติคนิวซิตี้” มีการใช้ผ้าในการตัดเย็บเสื้อผ้าทั้งสิ้น 78,450.66 กิโลกรัม หรือกว่า 78 ตัน โดยผ้า 80% ถูกนำไปตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย และจะมีผ้าส่วนเกินคิดเป็น 20 % ของผ้าที่ใช้ทั้งหมด หรือ 15,690.13 กิโลกรัม หรือประมาณ 15.69 ตัน บริษัทจึงได้เริ่มโครงการ “A’MAZE Green Society” เพื่อมองหาคู่ค้าและคู่คิดที่เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับผ้าส่วนเกินเข้ามาทำงานร่วมกัน

“เราพบว่าระหว่างการตัดเย็บจะมีของเสีย อยู่ส่วนหนึ่ง คือ เสื้อ 1 ตัวจะมีผ้าส่วนเกินประมาณ 20% ต้องมีการ Upcycle เช่น จับมือกับ “ลฤก” แบรนด์พวงหรีดเสื่อ ในการนำผ้าส่วนเกิน 15% มาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ผ้าเป็นการอัพไซเคิลนำไปติดบนเสื่อภายใต้โครงการ “ระลึกรักษ์” และเรายังเหลือผ้าส่วนเกินอีก 5% ซึ่งเราส่งผ้าส่วนเกินประเภทโพลีเอสเตอร์ให้ เดอะแพคเกจจิ้ง ทดลองในห้องวิจัยและเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เป็นเม็ดพลาสติก และสามารถนำมาทอเป็นแผ่นและนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋ารักษ์โลก Mimi”

ประวรา เอครพานิช

ผู้บริหารกล่าวต่อไปว่า ในการผลิตสินค้าจากผ้าเหงาหรือผ้าส่วนเกินจะต้องออกมาสวยและคนอยากใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ ดังนั้นในการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์จะต้องช่วยกันเปลี่ยนกระบวนการ (process) บางอย่างของตัวเอง มีการปรับจูนกันและเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจ

เช่น “มอร์ลูป” ที่ร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าคอลเลคชั่นพิเศษ ภายใต้ชื่อ Mimi X moreloop หรือโครงการ Organic Indigo ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครนำเสื้อผ้าขาวที่ส่งกลับจากร้านค้าในแต่ละสาขา อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจากการลองชุด อาทิ คราบแป้ง เปื้อนลิปสติก ไปผ่านกระบวนการซักทำความสะอาด ออกแบบและทำสีขึ้นมาใหม่ด้วยการมัดย้อมด้วยครามธรรมชาติจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

“ความตื่นเต้นของคอลเลคชั่นนี้คือ ลิมิตทุกอย่าง ทั้งจำนวน ไซส์ และสี นอกจากแบรนด์ของเราเอง เรายังมีคำสั่งผลิตชุดยูนิฟอร์มให้กับลูกค้าองค์กรด้วย ซึ่งการใช้ผ้าประมาณ 78 ตันการนำผ้าส่วนเกิน 20% หรือ ประมาณ 15 ตันมาใช้ก็จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซต์ประมาณ 1.2 แสนกิโลคาร์บอน”

สำหรับแผนในอนาคตบริษัทจะยังคงมองหาคู่ค้าและคู่คิด โดยมุ่งเป้าไปที่บริษัทหรือโรงงานผ้าที่มีส่วนผสมของรีไซเคิลหรือโรงงานที่มีการใช้พลังงานน้อย ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบันพบว่ามีหลายโรงงานที่อยู่ในระดับมาตรฐาน แต่ส่วนใหญ่จะส่งไปต่างประเทศ เพราะฉะนั้นภารกิจหลักยังคงเป็นการค้นหาซัพพลายเออร์

ขณะเดียวกันก็จะต้องหาคู่ค้าปลายทางหรือลูกค้าที่ยอมรับในคอนเซปท์นี้ ซึ่งตอนนี้ก็มีลูกค้าองค์กรที่ติดต่อเข้ามาจำนวนมาก แต่ทุกคนจะต้องยอมรับว่าการนำผ้าเหลือใช้หรือผ้ารีไซเคิลมาใช้ ไม่ได้ทำให้ต้นทุนถูกกว่าเดิมอย่างที่เข้าใจ

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 43 ฉบับที่ 3,906 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566