ทางรอดของโลก "Circular Economy" จากประเทศต้นแบบถึงไทย

26 ม.ค. 2566 | 08:30 น.

ทางรอดของโลก ถอดบทเรียน "Circular Economy" เศรษฐกิจหมุนเวียน จากประเทศต้นแบบ3 ประเทศที่ประสบความสำเร็จถึงไทย

อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหากไม่รีบแก้ไขอาจทำให้มนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ที่ผ่านมาทั้งประเทศไทยและนานาประเทศต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในด้านผู้ผลิตหรือธุรกิจต่างๆ กำลังพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการ

จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่เรียกว่า “Circular economy” เป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจเพราะเต็มไปด้วยโอกาส เป็นเหมือน Game Changer ที่พลิกโฉมประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แบบง่ายๆ ไม่วิชาการ คือ แนวทางลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แนวคิดที่สนับสนุนให้ใช้สิ่งของหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด วางแผนให้สิ่งของใช้สามารถคืนสู่สภาพเดิมหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งออกแบบรูปแบบการใช้สิ่งของ  เป็นโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะจากการพัฒนาธุรกิจใหม่และปรับธุรกิจเดิมที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การหมุนเวียนของวัสดุ และสร้างมูลค่าจากการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่

 

แล้วต่างประเทศเคลื่อนไหวเพื่อสร้าง Circular Economy อย่างไรบ้าง 

เนเธอแลนด์

ให้ความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนใน 2 ประเด็น ทั้ง ความจำเป็นเนื่องจากการพึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศอื่นๆ ในขณะที่ความต้องการวัตถุดิบต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เเละโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

เนเธอร์แลนด์ได้เริ่มศึกษานโยบายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2556 และพบว่าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยสร้างงาน 54,000 ตำแหน่ง และสร้างรายได้ 7,300 ล้านยูโร รวมทั้งสร้างโอกาสให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ปี 2559 ได้ประกาศนโยบายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยกำหนดเป้าหมายแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกตั้งเป้าลดปริมาณการใช้วัตถุดิบขั้นต้นให้ได้ร้อยละ 50 ในปี 2573 และในระยะยาวตั้งเป้าให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีการปล่อยสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ในปี 2593

ฟินแลนด์ 

มีเป้าหมายจะเป็นผู้นำโลกด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในปี 2568 และต้องการเป็นประเทศต้นแบบด้านการบริหารจัดการความท้าทายด้านการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงต้องการสร้างการเติบโตและโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมุ่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าหรือบริการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนออกไปยังตลาดโลก

 

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีการตั้งคณะทำงาน Circular Economy Vision ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry : METI) มีตัวแทนจากภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย เป็นองค์ประกอบหลัก มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ

จากผลการศึกษาของคณะทำงาน พบว่า ญี่ปุ่นสนับสนุน 3R (Reduce Reuse Recycle) มาตั้งแต่ปี 2542 จึงทำให้มีความเข้มแข็งในด้านนี้เป็นทุนเดิม การใช้ 3R เป็นฐานในการช่วยเพิ่มมูลค่าและลดปริมาณการใช้วัตถุดิบ โดยการออกแบบให้มีความสอดคล้องกันตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

สอวช. ระบุว่า ประเทศไทย มีแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20ปี (พ.ศ. 2560-2579) กำหนดสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ความตื่นตัวในเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อาจยังไม่เกิดขึ้นชัดเจนในภาคธุรกิจของไทย แม้หลายบริษัทในไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นภายใต้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะเดียวกันการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งที่ผ่านมามีการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่ไม่จำเป็นหลายประเภทและหันไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน