โอกาสธุรกิจสีเขียว โลกการค้าใหม่มุ่งความยั่งยืน BCG ทางรอดการแข่งขัน

31 ธ.ค. 2565 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ธ.ค. 2565 | 19:46 น.

รัฐ-เอกชน ตั้งรับกติกาการค้าโลกยุคใหม่ จี้ทุกภาคส่วนเร่งปรับตัวธุรกิจ สู่ความอย่างยั่งยืน ชูโมเดล BCG ทางรอดข้อกีดกันทางการค้า รับมือ CBAM ที่จะมีผลใช้ 1 ต.ค. 66 กระทบส่งออกไทย ขณะที่คลัง เตรียมออกมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้าและกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนฯ

การพัฒนาความยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) กำลังเป็นกระแสที่ทั่วโลกได้หันมาให้ความใจต่อการพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะการด้านดูแลสิ่งแวดล้อม ที่มีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน เข้ามาเป็นแรงกดดัน รวมถึงกระแสการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ถือเป็นอีกโมเดลหนึ่งที่อยู่ภายใต้ การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกหยิบนำมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งได้กลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของโลกใหม่ หากภาครัฐและเอกชนไม่มีการปรับตัว หรือดำเนินการธุรกิจให้สอดคล้อง ก็จะมีความเสี่ยงหรือยากต่อการแข่งขันได้

 

  • หอการค้าดันแสนรายสู่ BCG

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ ”ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainability) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการค้า การทำธุรกิจของโลก ที่จะถูกหยิบยกมาเป็นข้อกีดดันทางการค้ามากขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง BCG Model ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง ทุกภาคส่วนต้องเน้นสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสามารถดำเนินการได้จริง เพื่อรับมือกับมาตรการและข้อกำหนดด้านการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่กำลังออกมา

ที่ผ่านมาหอการค้าฯ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ได้จับมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชน (ระยะ 5 ปี) โดยมีประเด็นหลักคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่นำเอา BCG มาใช้ให้เกิดรูปธรรม ต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด ซึ่งในระยะยาวเชื่อว่าแผนดังกล่าวจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศได้

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

นอกจากนี้ หอการค้าฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดตั้งสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค เป็นสถาบันทางวิชาการที่จะทำหน้าที่ ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ในการดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้สมาชิกและเครือข่ายหอการค้าทั่วประเทศที่มีมากกว่า 1 แสนราย ได้ใช้เป็นแนวทางในการปรับตัวตามความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจ

 

  • รับมือ CBAM บังคับใช้

ที่สำคัญในการรับมือกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ในสินค้า 5 รายกาย ได้แก่ ซีเมนต์ บริการ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอลูมิเนียม และยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมจากรัฐสภายุโรป ให้ครอบคลุมไฮโดรเจน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม และอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นส่วนประกอบเช่น ตะปูเกลียว นอต เป็นต้น

 

โอกาสธุรกิจสีเขียว โลกการค้าใหม่มุ่งความยั่งยืน  BCG ทางรอดการแข่งขัน

มาตรการดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ในฐานะประเทศ “รับจ้างผลิต” ที่พึ่งพิงการส่งออกค่อนข้างมาก โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มสินค้าดังกล่าวต้องเร่งปรับตัว เพราะหากไม่สามารถดำเนินการตามมาตรการได้ อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกเหล่านี้ที่จะแพงขึ้นจากต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งในตลาด

 

ที่หนักไปกว่านั้นสินค้านั้น ๆ อาจไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าอียู หรือแม้แต่การส่งออกวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนสินค้าไปให้ประเทศอื่นที่จะนำไปผลิตสินค้าส่งออกสู่อียูอีกทอดหนึ่งก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นที่ใช้ชิ้นส่วนซึ่งผลิตในไทย อาจต้องเสียภาษี CBAM เมื่อส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังอียู เพราะสินค้านั้นมีชิ้นส่วนที่ผลิตโดยมีคาร์บอนฟุตพริ้นต์เกินเกณฑ์อยู่ เป็นต้น

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

  • 45 กลุ่มอุตฯมุ่งความยั่งยืน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มส.อ.ท.กำลังเดินหน้า SDGs ให้มีความเชื่อมโยงกัน ตาม 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยนำมาผสมผสานกับนโยบาย ONE FTI ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.Industry Collaboration 2. Frist2Next Gen Industry 3.Smart SMEs และ 4.Smart Service Platform ยุทธศาสตร์เหล่านี้จะเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่เป้าหมายของความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

 

มีตัวอย่างเช่น Industry Collaboration ใน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ One Industry One Province ที่เป็นการกระจายความเจริญจากส่วนกลางออกไปยังทุกจังหวัด มีโครงการ Smart Agricultural Industry หรือเรียกว่า SAI ที่จะขับเคลื่อนทุกจังหวัดที่มีภาคการเกษตรที่เข้มแข็งควบคู่กับภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และโครงการ International Collab oration ที่ผสานการทำงานร่วมกับต่างประเทศ โดยเฉพาะความสำเร็จจากการประชุม APEC / ABAC ที่ผ่านมา 1 ในหัวข้อสำคัญอย่างด้านความยั่งยืน (Sustainability) ที่มุ่งเน้นการนำสังคมไปสู่ Net Zero ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ พร้อมทั้งยังส่งเสริมให้มีความมั่นคงทางพลังงานและอาหารในอนาคต

 

  • เร่งลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังมีการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ธุรกิจควรเติบโตควบคู่ไปกับการคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG ซึ่งล้วนมีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน พร้อมช่วยสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินโครงการ Eco Product / Eco Factory / Eco Town รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

อีกทั้งยังได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตขึ้นในประเทศ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำลดคาร์บอนในภูมิภาค และเตรียมความพร้อมให้ภาคเอกชนในการปฏิบัติตามมาตรการ CBAM

 

ทั้งนี้ CBAM ถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นหนึ่งมาตรการเพื่อความยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง ส.อ.ท. ได้ติดตามความคืบหน้ากระบวนการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ CBAM อย่างใกล้ชิด และเริ่มเตรียมความพร้อมรับมือโดยเฉพาะการประเมิน Carbon Footprint เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งต้องนำไปรายงานภายใต้ CBAM โดยภาครัฐหลายหน่วยงาน มีการประสานงานกันเพื่อให้มีระบบบริหารจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

  • จี้รัฐสร้างความชัดเจน

นายณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด หรือ ENVICCO ในกลุ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า กฎของ EU ยังมีเรื่องของธุรกิจที่มีพลาสติกเป็นแพ็คเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ โดยสหราชอาณาจักรจัดเก็บภาษีถึง 800 ยูโรต่อตันพลาสติก สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาณพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่า 30% ส่วน EU จะเริ่มในปี 2566 นี้ เรื่องนี้ ภาครัฐควรเร่งสร้างความชัดเจน ควรมีหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่ตรวจมาตรฐาน และกำหนดค่าตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นต้นทุนของภาคเอกชนที่ค่อนข้างสูงมาก

 

สำหรับภาษีจากขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่รีไซเคิล จะเข้าไปเป็นหนึ่งในรายได้ของสหภาพยุโรป นอกเหนือจาก ภาษีศุลกากร (custom duties) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บรวบรวมจากรัฐสมาชิก และเงินสมทบโดยตรงจากรัฐสมาชิกในสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า รายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income: GNI)

 

  • สรรพสามิตลุยเก็บภาษีคาร์บอน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตมีนโยบายชัดเจนที่จะเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ มุ่งสู่การเป็นผู้นำการจัดเก็บภาษี สิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืน ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม 4 เรื่องหลัก ซึ่งจะเห็นความชัดเจนจากการศึกษาได้ในสิ้นปีงบประมาณ 2566 นี้ ได้แก่

 

การเก็บภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax อยู่ระหว่างศึกษาตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่เริ่มต้นเก็บภาษีคาร์บอน โดยทำไว้ 2 รูปแบบ คือ การเก็บบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งเหมาะกับสรรพสามิตตรงที่เก็บบนสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรง และอีกรูปแบบเก็บจากการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิต ซึ่งจะต้องมีหน่วยวัดการปล่อยคาร์บอนฯ และเก็บภาษีตามปริมาณที่ปล่อย โดยสิงคโปร์เก็บภาษี 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเมตริกตันต่อคาร์บอนไดออกไซด์ ในส่วนนี้ต้องมีการทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นผู้เก็บภาษีส่งให้สรรพสามิตด้วย

 

ทั้งนี้ สิ่งที่กรมต้องการให้เกิดขึ้นสำหรับแผนการเก็บภาษีคาร์บอน ต้องมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นนั้น จะเป็นการเก็บภาษีคาร์บอนฯบนสินค้าได้ เพื่อปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ให้สอดคล้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเริ่มจากพิกัดสินค้าที่กรมมีอยู่แล้วนำมาเริ่มใช้ก่อน เช่น แบตเตอรี่ ปัจจุบันคิดภาษีอยู่ที่ 8% หากทำลายสิ่งแวดล้อม อาจจะมีการปรับอัตราเพิ่มสูงขึ้น หรือหากผู้ประกอบการพัฒนาให้แบตเตอรี่สามารถรีไซเคิล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ กรมก็จะลดภาษีให้เป็น 0% เป็นต้น ซึ่งสามารถออกเป็นกฎหมายมาได้เลยในปี 2567 และให้เวลาผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม 1 ปี

 

ส่วนระยะกลาง และระยะยาว จะเก็บจากการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งสิงคโปร์แนะนำว่าจะต้องสร้างการเรียนรู้เยอะมาก เพราะบริษัทที่จะถูกเก็บภาษีคาร์บอนต้องเต็มใจ และต้องมีบริษัทที่เป็นตัววัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยต้องได้รับการยอมรับด้วย ซึ่งสิงคโปร์ใช้ระยะเวลาในการศึกษานานกว่า 8 ปี รวมถึงการสนับสนุนไบโอพลาสติก ด้วยการคิดอัตราภาษีส่วนนี้ 0% เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตไบโอพลาสติก และอยู่ระหว่างศึกษาน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (sustainable aviation fuels) ซึ่งเป็นแนวคิดของยุโรป ที่นำเอาเอทานอลมาเติมน้ำมันเครื่องบินช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม

 

  • ลดภาษีจูงใจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การสนับสนุนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยกระทรวงการคลังต้องมีความชัดเจนในเรื่องภาษีคาร์บอน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและมีความสำคัญมากที่สุด ขณะนี้ได้มีการเริ่มต้นไปแล้วที่กรมสรรพสามิต จากการออกมาสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

 

นายลวรณ  แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร

 

อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรพร้อมจะใช้มาตรการภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ เช่น ให้สิทธิการหักค่าใช้จ่าย และการลดหย่อนภาษี เป็นต้น สำหรับผู้ประกอบการที่ปล่อยคาร์บอนลดลง แต่การเดินหน้ามาตรการจะต้องให้ภาษีคาร์บอนเกิดขึ้นก่อน กรมจะทยอยออกมาตรการมาสนับสนุนเป็นลำดับ เพื่อเป็นการดูแลทั้งระบบ

 

“สิ่งที่กระทรวงการคลังทำได้ หากออกภาษีคาร์บอนที่กรมสรรพสามิตมา การสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดสังคมที่ต้องช่วยกันลดความต้องการใช้พลังงานจะอยู่ที่กรมสรรพากร ส่วนสถาบันการเงินก็ต้องมีการปล่อยสินเชื่อที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจสีเขียวด้วย”

 

นายยุทธศักดิ์  สุภสร ผู้ว่าการการท่องที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

 

  • ท่องเที่ยวยั่งยืนลดคาร์บอนฯ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การพลิกฟื้นท่องเที่ยวต้องสร้างอีโค ซิสเต็ม ใหม่ เพื่อยกระดับซัพพลายของประเทศ เพื่อสร้างการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ไม่ใช่ฟื้นกลับไปเป็นแบบเก่า ที่เป็น MASS Tourism ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะยาว

 

ทั้งนี้ททท.มีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ก้าวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ที่ผู้นำทั่วโลกได้ให้คำมั่นสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวที่ยั่งยืนผ่านกลุ่มความร่วมมือ Sustainable Tourism Global Centre (STGC) เพื่อผลักดันเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวขึ้นเท่าตัวในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3849 วันที่  1 – 4 มกราคม พ.ศ. 2566