เราควรรู้อะไรบ้าง เมื่อ EU เตรียมใช้ CBAM วันที่ 1 ต.ค.66

22 ธ.ค. 2565 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2566 | 11:12 น.
1.7 k

เราควรรู้อะไรบ้าง เมื่อ EU เตรียมใช้มาตรการ CBAM เริ่มวันที่ 1 ต.ค.66 พร้อมประเมินผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ส่งออกไทย

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ และในปี 2050 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า "Net Zero" ถือเป็นเป้าหมายนานาประเทศ

เมื่อเดือน ก.ค. 2021 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) มีแผนการทำงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว และเกิดเป็น "European Green Deal" หรือมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 55 ในปี 2030 หรือ Fit for 55 Package ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อรับรองเรื่อง

  • การปรับปรุงสิทธิการซื้อขายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • การส่งเสริมการคมนาคมสีเขียวทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
  • การกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • การกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน
  • การตั้งเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
  • การออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) 

 

โดยวันนี้เราจะมาพูดถึง มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)  ซึ่งที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (MEPs) บรรลุข้อตกลงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ข้อมูลทั้งหมดต่อไปนี้มาจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย 

มาตรการ CBAM คืออะไร

  • ส่วนหนึ่งในมาตรการ Fit For 55 ภายใต้นโยบาย the European Green deal มีเป้าหมายให้สหภาพยุโรป (EU) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิอย่างน้อยร้อยละ 55 ในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี ค.ศ. 1990 และลดลงเหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050  
  • มาตรการ CBAM เพื่อสร้างความเท่าเทียมต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายใน EU ที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU’s Emission Trading System : EU ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอก EU ผ่านการปรับราคาคาร์บอน เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของ EU ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
  • ในวันที่ 13 ธันวาคม 2565 สมาชิกรัฐสภายุโรป บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นบังคับใช้มาตรการ CBAM เริ่มใช้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
  • คณะกรรมาธิการยุโรป เสนอร่างกฎหมาย CBAM ในเดือนกรกฎาคม 2564 และได้รับการปรับปรุงโดยรัฐสภายุโรป เมื่อ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
  • วันที่ 19 ธันวาคม 2565 รัฐสภายุโรป และรัฐบาลของประเทศสมาชิก EU บรรลุข้อตกลงลดการบังคับใช้ระบบ EU ETS ให้มีบทบาทน้อยลง ให้สอดคล้องกับการเริ่มบังคับการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนจาก มาตรการ CBAM ในปี 2569 จนสิ้นสุดบทบาทของ EU ETS เพื่อบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบในปี 2577

การดำเนินมาตรการ CBAM แบ่งออก 3 ช่วง 

 3 ปีแรกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

  • สินค้านำเข้าของผู้ประกอบการส่งออกจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกEUที่มีราคาสูงกว่า150ยูโรในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอน แต่ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าที่จะนำเข้าไปยัง EU เท่านั้น

อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีอะไรบ้าง 

  • สินค้านำเข้าที่จะต้องปฏิบัติตามกลไก CBAM คือ ซีเมนต์ บริการไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม
  • ข้อเสนอเพิ่มเติมของรัฐสภายุโรปซึ่งครอบคลุมไฮโดรเจน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม และอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นส่วนประกอบ เช่น ตะปูเกลียว นอต เป็นต้น
  • ผู้นำเข้า ต้องได้รับอนุญาต และมีการรายงานข้อมูลตามกลไก CBAM  โดยในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period: ตุลาคม 2566 – 2568) จะเป็นการรายงานข้อมูลเท่านั้น ยังไม่มีการกำหนดค่าธรรมเนียม เพื่อให้ปรับตัว
  • ต้องมีการรายงานข้อมูลทุกไตรมาส ประกอบด้วย  ปริมาณการนำเข้าสินค้า  ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ทั้ง Direct และ Indirect Emissions ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการผลิต และตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาต และ ค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่จ่ายสำหรับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในประเทศต้นทางของสินค้านำเข้า 

ระยะต่อไป

  • ปี 2568 EU จะพิจารณาผลดำเนินมาตรการ CBAM จากข้อมูลที่ได้รับในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนบังคับใช้การคิดค่าธรรมเนียมคาร์บอนตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป รวมถึงการขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายของ CBAM ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่บังคับใช้ในระบบ EU ETS เช่น สารอินทรีย์พื้นฐาน พลาสติกและโพลีเมอร์ แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น
  • ลดบทบาทของระบบ EU ETS ลงจนสิ้นสุดลงภายในปี 2577ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยัง EU ควรเตรียมความพร้อมด้านระบบวัดผลและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าตนเองตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการดำเนินมาตรการ CBAM ของ EU

มาตรการ CBAM จะเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2569

มีการรายงานข้อมูล พร้อมยื่นหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียม CBAM Certificates ภายในวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี โดยข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วย

  • ปริมาณสินค้าที่นำเข้าในระหว่างปีที่ผ่านมา
  • ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้ามาใน EU มีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาต
  • CBAM Certificates ที่เป็นหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้า โดยจะคิดค่าธรรมเนียมจากค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์ของราคาในระบบ EU ETS ผู้นำเข้าจะได้รับการลดภาระค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมคาร์บอนในประเทศต้นกำเนิดสินค้าแล้ว หรือตามสัดส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
    แบบให้เปล่า (Free Allowances) ที่ EU ได้อนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการภายใน EU  

หากไม่มีการยื่นหลักฐาน CBAM Certificates ครบตามจำนวนและภายในเวลาที่กำหนด ?

  • ผู้นำเข้าสินค้านั้นจะต้องโดนโทษในอัตรา 3 เท่า ของราคาเฉลี่ยในปีก่อนหน้า ต่อ 1 CBAM Certificate ที่ยังไม่ได้ส่งมอบ และยังคงต้องทำการซื้อและส่งมอบ CBAM Certificate ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดสำหรับการนำเข้าสินค้านั้น

การเตรียมยกเลิกระบบ EU ETS และจัดตั้งระบบ EU ETS ใหม่ 

  • มาตรการ CBAM เป็นการดําเนินการที่ขยายบทบาทของระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกหรือ EU ETS ที่เดิมจํากัดเฉพาะอุตสาหกรรมภายใน EU ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ไปสู่อุตสาหกรรมชนิดเดียวกันที่มีการนําเข้ามาใน EU เพื่อให้มีความทัดเทียมกันระหว่างผู้ประกอบการในและนอก EU เฉพาะต้นทุนที่ผู้ประกอบการใน EU ต้องแบกรับจากข้อบังคับการจ่ายค่าค่าธรรมเนียมชดเชยคาร์บอนภายใต้ระบบ EU ETS ซึ่งหากเปลี่ยนสู่ระบบ CBAM แล้ว ผู้ประกอบการภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมายทุกคนที่ต้องการขาย

สินค้าใน EU จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในราคาเท่าไหร่

  • ราคาเดียวกันไม่ว่ากระบวนการผลิตจะเกิดขึ้นในหรือนอก EU ก็ตาม

เริ่มลดบทบาทของระบบ EU ETS ลงตั้งแต่ปี 2569 จนสิ้นสุดในปี 2577  

  • ทะยอยลดการจัดสรรใบอนุญาตให้เปล่าตั้งแต่ปี 2569 และยกเลิกในปี 2577
  • รายได้จากการจำหน่ายสิทธิในระบบ EU ETS จำนวน 24% จะนำไปเป็นทุนสำรองเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาในตลาด EU ETS
  • เพิ่มการขนส่งทางเรือ เข้าสู่ระบบ EU ETS และจัดทำระบบ EU ETS II ซึ่งเป็นระบบเฉพาะสำหรับภาคพลังงานและน้ำมันสำหรับการขนส่งทางบก และภาคอาคารและการก่อสร้าง ซึ่งจะเริ่มการบังคับใช้ในปี 2570 หรืออาจเลื่อนการบังคับใช้เป็นปี 2571 ได้หากราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง และมีกลไกรักษาเสถียรภาพของราคาภายใต้ EU ETS II ผ่านการปรับโควต้าสิทธิ free allowance เพิ่มขึ้น หากราคา allowance สูงกว่า 45 ยูโรต่อตัน

ผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย

  • ภาพรวมการส่งออกของไทยไปยัง EU ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของ CBAM มีสัดส่วนไม่มากนัก โดยมีการส่งออกหลักใน 2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอะลูมิเนียม
  • มีมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2564 อยู่ที่ 18,100 ล้านบาท  หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.3 ของมูลค่าการส่งออกรวมไปยัง EU และคิดเป็น 5.8% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันทั้งหมด โดยมีจำนวนผู้ส่งออกเกี่ยวข้องจำนวน 1,298 ราย

ตลาด EU ไม่ใช่ตลาดหลักของผู้ส่งออกไทยในอุตสาหกรรมภายใต้ CBAM

  • ผู้ประกอบการส่งออกไทย ควรเร่งปรับตัวรองรับมาตรการ เพื่อรักษาฐานลูกค้าใน EU และอาจมีโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติมหากผู้ส่งออกจากประเทศอื่นไม่สามารถปรับตัวรองรับมาตรการได้ทัน
  • เตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินมาตรการในประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับ EU เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย US Clean Competition Act และอาจจะเริ่มมีการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2569 เช่นเดียวกัน

หาก EU เริ่มมีการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอน

  • จะเพิ่มต้นทุนแก่ผู้ประกอบการในช่วงระหว่าง 16-270 ยูโรต่อสินค้านำเข้า 1 ตัน แตกต่างไปในแต่ละอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตสินค้าต่อหน่วย (Emission Factor) และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบให้เปล่า (Free Allowances) ที่ EU อนุญาต
  • เมื่อระบบ EU ETS ถูกลดบทบาทโดยสมบูรณ์ในปี 2577 ค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายจะขึ้นอยู่กับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสินค้าที่ตามอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรกของมาตรการ CBAM ที่มีสัดส่วนการส่งออกไป EU สูง เช่น อะลูมิเนียม และเหล็ก ถือว่ามีค่า Emission Factor สูง

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะพิจารณาขยายขอบเขตอุตสาหกรรมและขอบเขตการคิดค่าธรรมเนียมปริมาณก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติ รวมจำนวนก๊าซเรือนกระจกจากการซื้อวัตถุดิบหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต กระบวนการขนส่งสินค้า นอกจากการคิดค่าธรรมเนียมจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตเท่านั้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ควรเร่งปรับตัวเตรียมความพร้อม เพราะอาจได้รับผลกระทบในอนาคตด้วยเช่นเดียวกัน.