โลกกำลังแปรปรวน “หนาวสุดขั้ว-ร้อนสุดขีด” ภาพสะท้อนปัญหาโลกร้อน

25 ม.ค. 2566 | 05:55 น.
529

เมื่อโลกกำลังแปรปรวน “หนาวสุดขั้ว-ร้อนสุดขีด” เป็นสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว หรือ Extreme Weather นี่คือภาพสะท้อนปัญหาโลกร้อนที่เราต้องร่วมกันแก้ไข

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี หิมะที่ตกหนักรุนแรงที่สุด ตั้งแต่เมื่อสุดสัปดาห์ ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากพายุหิมะอย่างหนักคือ คือ โทโฮคุ  คันโต โคชิน  โฮคุริคุ  โทไกและคินคิ ชูโกกุ ชิโกกุ และคิวชู ตอนเหนือและใต้   

รายงานระบุด้วยว่าตอนนี้เริ่มมีผู้เสียชีวิตแล้ว ขณะที่ทางการได้ออกมาเตือนประชาชนเตรียมรับมือหิมะตกหนักทั่วประเทศ หากไม่มีธุระจำเป็น ควรงดออกจากบ้าน .

และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้น ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ เมืองโม่เหอ มณฑลเฮย์หลงเจียง ทางตอนเหนือสุดของ ประเทศจีน มีอุณหภูมิเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ลดฮวบลงไปอยู่ที่ -53 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นอุณหภูมิที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และทำลายสถิติเดิมที่ -52.3 องศาฯ ส่วนพื้นที่หลายแห่งบริเวณเทือกเขาต้าซิงอันหลิ่ง ก็มีอากาศหนาวเย็นที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ หลังจากมณฑลเฮย์หลงเจียงกำลังเผชิญสภาพอากาศเย็นสุดขั้วระลอกใหม่

ลักษณะนี้เกิดจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นหรือ Climate Change และ ปัญหาโลกร้อน ทำให้เกิด สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว หรือ Extreme Weather เกิดสภาพอากาศร้อนจัด หนาวจัด ลมพายุที่รุนแรง ฝนตกหนัก และในฤดูหนาวมีอุณหภูมิลดต่ำลง หิมะตกเพิ่มขึ้น เกิดอากาศหนาวเย็น ส่งผลให้หลายพื้นที่บนโลกต้องพบกับสภาพอากาศที่ทั้งร้อนและหนาวสุดขั้ว ได้ยินแบบก็ทำให้เราทุกคนตระหนักว่า ภัยธรรมชาติมีผลกับชีวิตของเราอย่างไร ทั้งในมิติการสูญเสียทั้งชีวิต เศรษฐกิจ และสุขภาพจิตของสังคม   

ขณะที่ประเทศไทยยังมีการคาดการณ์ออกมาเรื่อง ปรากฏการณ์เอลนีโญ ว่าจะค่อย ๆ เพิ่มกำลัง และอาจกลับมาช่วงปลายปี 66  ฝั่ง International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Climate Prediction Center องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) สหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า จะเกิดลานีญาอยู่ที่ 95% ช่วง ธ.ค. 65 - ก.พ. 66 และจะลดลงอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนเป็นเฟสกลาง 82% ช่วง มี.ค.-พ.ค. 66 และมีแนวโน้มเปลี่ยนไปสู่เอลนีโญช่วงปลายปีนี้ เตรียมรับมือกับภัยแล้งช่วงไตรมาส 4 ของปี 66 เป็นต้นไป

 

หากย้อนกลับไปดูภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ทั่วโลก ในปีที่ 2565 ที่ผ่านมา เฉพาะ 3 เดือนหลังพบว่า เกิดเหตุการณ์ ดังนี้

เดือนตุลาคม ฝนตกหนักเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน ในรัฐอารากัว เวเนซุเอลา ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงฉับพลัน และดินถล่ม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 ราย และมีผู้สูญหายอีก 50 กว่าคน

เดือนพฤศจิกายน พายุเฮอริเคนนิโคลพัดถล่มพื้นที่ตามแนวชายฝั่งรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ทำให้เกิดน้ำท่วม บ้านเรือนและร้านค้ากว่า 350,000 หลัง ไม่มีไฟฟ้าใช้

เดือนธันวาคม ประชานในสหรัฐฯ และแคนาดากว่า 1 ล้านคนต้องตกอยู่ในสภาพไม่มีไฟฟ้าใช้ในวันคริสต์มาส สาเหตุมาจากพายุฤดูหนาวหรือบอมบ์ไซโคลนลูกใหญ่ถล่มต่อเนื่อง ทำให้เกิดหิมะตกหนัก ลมแรงและอุณหภูมิเยือกแข็ง ประชาชนเกือบ 250 ล้านคนได้รับผลกระทบและมีอย่างน้อย 19 รายเสียชีวิต

นี่คือส่วนนึ่งเท่านั้นที่เกิดจากความแปรปรวนของโลก สะท้อนภาพความความเสียหายและความสูญเสียต่อผู้คน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ รุนแรงขึ้น เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่าเราทุกคนบนโลกนี้ต้องเร่งมือช่วยกันปกป้องโลกใบนี้