“บวงสรวงคันไถ” เตรียมพระราชพิธีพืชมงคล 2566

19 เม.ย. 2566 | 13:25 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 13:25 น.

ปลัดเกษตรฯ จัดพิธีบวงสรวงคันไถในพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2566 เพื่อความเป็นสิริมงคล บำรุงขวัญกำลังใจแก่ชาวนา พร้อมเปิดตัวเทพี "คู่หาบทอง" และ "คู่หาบเงิน" ปีนี้ มาจากกรมใดบ้าง

“บวงสรวงคันไถ” เตรียมพระราชพิธีพืชมงคล 2566

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้จัดเก็บ ดูแล รักษา ซ่อมแซม ปรับปรุง และจัดเตรียมคันไถ สำหรับเข้าร่วมวันซ้อมย่อย วันซ้อมใหญ่ และวันงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี 2566 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ปฏิบัติหน้าที่นี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“บวงสรวงคันไถ” เตรียมพระราชพิธีพืชมงคล 2566

โดยในช่วงเดือนเมษายน ก่อนพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของทุกปี กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงคันไถให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน และปี 2566 นี้ ได้กำหนดจัดพิธีบวงสรวงคันไถเพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน ในวันพุธที่ 19 เมษายน 2566 เวลา 07.00-10.00 น. ณ บริเวณปะรำพิธีอาคารเก็บรักษาคันไถ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีนายประยูร  อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนาในปีนี้ เป็นประธานในพิธี

“บวงสรวงคันไถ” เตรียมพระราชพิธีพืชมงคล 2566

ในอดีตคันไถเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมดินก่อนปลูกข้าว ใช้แรงงานสัตว์ เช่น โค กระบือ ในการขับเคลื่อน ซึ่งถูกนำมาใช้ประกอบพิธีไถหว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทุกปี โดยพระราชพิธีฯ มีมาแต่โบราณตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพิธีสงฆ์ เรียกว่า “พระราชพิธีพืชมงคล” ร่วมด้วย จึงทำให้พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีพระราชพิธีพืชมงคลรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

“บวงสรวงคันไถ” เตรียมพระราชพิธีพืชมงคล 2566

พระราชพิธีฯ นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในการทำนา เป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกทางจันทรคติหรือเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะเวลาเหมาะสมในการเริ่มต้นการทำนาของทุกปีโดยในปี 2566 สำนักพระราชวังกำหนดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลในวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2566 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

สำหรับคันไถ ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีฯในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2539โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีชุดองค์ประกอบ ดังนี้

“บวงสรวงคันไถ” เตรียมพระราชพิธีพืชมงคล 2566

1.คันไถ ขนาดความสูงวัดจากพื้นถึงเศียรนาค 2.26 เมตร และยาวจากเศียรนาคถึงปลายไถ 6.59 เมตร ทาสีแดงชาดตลอดคันไถ หัวคันไถทำเป็นเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับคันไถเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายไถหุ้มผ้าขาวขลิบทองสำหรับมือจับ

2.แอกเทียมพระโค ยาว 1.55 เมตร ตรงกลางแอกประดับด้วยรูปครุฑยุดนาคหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองอยู่บนฐานบัว ปลายแอกทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับเป็นลาย กระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายแอกแต่ละด้านมีลูกแอกทั้งสองด้านสำหรับเทียมพระโคพร้อมเชือกกระทาม

3.ฐานรอง เป็นที่สำหรับรองรับคันไถพร้อมแอก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งทาด้วยสีแดงชาด มีลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองทั้งด้านหัวไถและปลายไถ

4. ธงสามชาย เป็นธงประดับคันไถติดตั้งอยู่บนเศียรนาคทำด้วยกระดาษและผ้าสักหลาด เขียนลวดลายลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกแวว มีพู่สีขาวประดับเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่งเพื่อประดับพระเกียรติ ธงสามชายมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ฐานยาว 41 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร และเสาธงยาว 72 เซนติเมตร

“บวงสรวงคันไถ” เตรียมพระราชพิธีพืชมงคล 2566

สำหรับปีนี้เทพี ผู้อัญเชิญเครื่องอิสริยยศ และคู่เคียงพระยาแรกนา ในงานพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

เทพีคู่หาบทอง

  • นางสาวดวงพร งามประดิษฐ์ กรมวิชาการเกษตร
  • นางสาวชลธิชา ทองอ่อน กรมปศุสัตว์

เทพีคู่หาบเงิน

  • นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • นางสาวภัทรปภา มินรินทร์ กรมส่งเสริมการเกษตร