ปลัดเกษตรฯ ลุยยกเครื่องสู่ยุคดิจิทัลพร้อมสนองรัฐบาลใหม่

05 มี.ค. 2566 | 13:46 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2566 | 13:56 น.

เปิดตัว “ประยูร อินสกุล” ปลัดใหม่เกษตรฯ โชว์วิสัยทัศน์ ลุยยกเครื่องสู่ยุคดิจิทัลพร้อมสนองรัฐบาลใหม่ พร้อมกับหน้าที่สำคัญ “ พระยาแรกนา” ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ นายประยูร อินสกุล ข้าราชการพลเรือนสามัญ พ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

 

ผ่านมา 5 เดือน นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ”เป็นฉบับแรก ถึงนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงภารกิจในการดูแลและช่วยเหลือเกษตรที่เวลานี้โลกได้ก้าวสู่ยุคใหม่ โดยเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ประยูร อินสกุล

เคลื่อนองคาพยพสู่ยุคดิจิตัล

นายประยูร กล่าวว่า นโยบายหลักประการหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคของตนคือการปรับเปลี่ยนจากยุค “กระดาษ” ก้าวสู่ “ยุคดิจิทัล” ที่การทำงานจะมีความกระชับฉับไวมากขึ้น ลดการใช้กระดาษ และหมึกที่สิ้นเปลืองลง โดยโครงการนำร่อง “เรื่องแจ้งเพื่อทราบ” จะเปลี่ยนในเรื่องที่ง่ายๆ ก่อน คือใช้ อี-สารบัญทั้งหมด ส่วนหนังสือที่ขอการอนุมัติหรือขอความเห็นชอบ จะใช้ระบบเอกสารไปอีกสักระยะเช่น 1 ถึง 2 ไตรมาส ก่อนปรับเข้าสู่ระบบดิจิตัล 100% ต่อไป ขณะที่ในอนาคตในเรื่องข้อมูลข่าวสาร การให้คำแนะนำและส่งเสริมเกษตรกรจะผ่านระบบดิจิทัลเกือบทั้งหมด ทำให้ประหยัดงบประมาณ และสะดวกในการปฏิบัติงาน

 

“ต่อไปข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงาน หรือลูกจ้างต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ในการดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องประชาชนร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือรับผิดชอบกรมใดกรมหนึ่งเท่านั้น”

 

 

ส่วนหน้าที่ของปลัดกระทรวงฯ ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร จะเป็นแอดไวเซอร์ (Advisor) หรือผู้คอยให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หน่วยงานนั้นๆ ขาด หรือช่วยต่อยอดในส่วนที่ทำได้ดีอยู่แล้ว โดยคงไม่ไปล้วงลึกจนกลายเป็นอุปสรรคทำให้แต่ละหน่วยงานในสังกัดไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ ทั้งนี้จะให้อิสระแต่ละหน่วยงานในการบริหาร การให้บริการ และแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างเต็มที่

 

ปลัดเกษตรฯ ลุยยกเครื่องสู่ยุคดิจิทัลพร้อมสนองรัฐบาลใหม่

พร้อมสนองนโยบายรัฐบาลใหม่

นายประยูร กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น ไม่ว่าพรรคใดจะได้เข้ามาเป็นรัฐบาลและบริหารประเทศ ไม่เป็นปัญหา เนื่องจากตนทำงานขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไม่ใช่ทำงานให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ยึดพี่น้องเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ได้ ทั้งในเรื่องของอาชีพ ในเรื่องของรายได้ที่ต้องมั่นคงยั่งยืน

 

“ผมมีความเข้าใจพี่น้องเกษตรกรไม่แพ้คนอื่น จากมีประสบการณ์ตรง เพราะโตมาจากลูกหลานของเกษตรกร พ่อแม่ผมก็เป็นชาวนา เพราะฉะนั้นจะทราบปัญหาของพี่น้องเกษตรกรดี และรับรู้ได้เร็วกว่าคนอื่นด้วยซํ้า จากชีวิตตั้งแต่เกิดมาก็อยู่ในครอบครัวเกษตรกรมาตลอด”

ทั้งนี้ คำว่า “เกษตรกร” ส่วนตัวได้จำแนกในเรื่องการบริหารและการดูแลออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 อยู่ไม่รอด คือ มีกินไม่ครบ 3 มื้อ เป็นหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องไปทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีกินครบ 3 มื้อก่อน พอมีกินครบ 3 มื้อแล้ว ท้องอิ่มแล้ว ก็เพิ่มข้อมูลด้านพัฒนาอื่นใส่เติมไป

 

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มพอเพียง หมายถึง มีการปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์เพื่อดำรงชีพได้แล้ว และมีเหลือเพื่อแบ่งปัน หรือเพื่อขาย และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ เพื่อขายให้กับโรงงานแปรรูป หรือเพื่อส่งออก ซึ่งกลุ่มสุดท้ายนี้ไม่น่าห่วง เพราะเป็นกลุ่มที่เติบโตสามารถต่อสู้กับโลกภายนอก และวิกฤติต่าง ๆ ได้แล้ว ทางกระทรวงเพียงมีเจ้าหน้าที่ไปคอยให้คำแนะนำส่งเสริมเพิ่มเติม หรือสนับสนุนในบางจังหวะ ในบางกิจกรรมเท่านั้น โดยการแบ่งเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่มนี้ ได้นำศาสตร์ของพระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 มาขับเคลื่อนให้อยู่รอด พอเพียง และอย่างยั่งยืน

 

ว่าที่พระยาแรกนา ปี 66

ปลัดเกษตรฯ ลุยยกเครื่องสู่ยุคดิจิทัลพร้อมสนองรัฐบาลใหม่

นายประยูร กล่าวตอนท้ายว่า ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พระยาแรกนา ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2566 นี้ ณ ท้องสนามหลวง ก็มีความตั้งใจที่จะทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมาอย่างยาวนานให้ดีที่สุด และสมพระเกียรติฯ และภารกิจนี้ยังส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของพี่น้องเกษตรกรด้วย จากจะมีการเสี่ยงทายในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับฤดูการผลิต ดังนั้นมีความตั้งใจจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,867 วันที่ 5-8 มีนาคม พ.ศ. 2566