เร่งพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เชื่อมโยงโครงข่ายไร้รอยต่อ

09 เม.ย. 2566 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2566 | 15:05 น.

กรมทางหลวงเดินหน้าเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เชื่อมโยงโครงข่ายแบบไร้รอยต่อ ยกระดับการเดินทางระหว่างภูมิภาคอย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวง (ทล.) เร่งดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคม ระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

เร่งพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เชื่อมโยงโครงข่ายไร้รอยต่อ

โดยในระยะเร่งด่วน ทล. เร่งผลักดันทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายใหม่อีก 3 เส้นทาง ได้แก่

1.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง - บางปะอิน ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง ได้แก่

- ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง เป็นการก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ตามแนวถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก หรือถนนกาญจนาภิเษก โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านทิศใต้ โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว และโครงการทางพิเศษพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณจุดตัดทางแยกต่างระดับบางบัวทอง เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง - บางปะอิน รวมระยะทางประมาณ 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนก่อสร้าง 56,035 ล้านบาท

ดำเนินโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน  (Public Private Partnership: PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธา และงาน Operation and Maintenance (O&M) โดยเอกชนรับรายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านทางสถานะปัจจุบัน คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการภายในปี 2566 ดำเนินการคัดเลือกเอกชนในปี 2567 ก่อสร้างโครงการในปี 2568 - 2570 และเปิดบริการในปี 2571

- ช่วงบางบัวทอง - บางปะอิน เป็นการดำเนินการปรับปรุงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกเดิม ให้เป็นทางหลวงพิเศษระดับพื้นดินขนาด 6 ช่องจราจร โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม. ที่ 36 (ปัจจุบัน คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ประมาณ กม. ที่ 50) บริเวณทางแยกต่างระดับบางบัวทอง เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง ไปสิ้นสุดที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน สามารถเชื่อมต่อไปยังทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 ได้ ระยะทางรวมประมาณ 34.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุนก่อสร้าง 15,260 ล้านบาท ปัจจุบัน ทล.อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2567 - 2571) หากได้รับการอนุมัติจาก ครม. คาดว่าสามารถเริ่มการก่อสร้างในปี 2568

ทั้งนี้ เมื่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกแล้วเสร็จ จะเป็นโครงข่ายสำคัญที่เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่ง ระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยสมบูรณ์ รวมถึงเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน - นครราชสีมา อย่างไร้รอยต่อ

เร่งพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เชื่อมโยงโครงข่ายไร้รอยต่อ

2. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน (M5) เป็นการก่อสร้างทางยกระดับช่วงรังสิต - บางปะอิน บนเกาะกลางถนนพหลโยธิน ขนาด 6 ช่องจราจร โดยมีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีจุดเริ่มต้นที่ปลายทางยกระดับอุตราภิมุขปัจจุบัน ประมาณ กม. ที่ 34 ของถนนพหลโยธิน และสิ้นสุดที่ประมาณ กม. ที่ 52 ของถนนพหลโยธิน บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน รวมถึงก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมโยงทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา ระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 22 กิโลเมตร วงเงินค่าลงทุนก่อสร้าง 31,358 ล้านบาท

ดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน สถานะปัจจุบันบอร์ด PPP เห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการภายในปี 2566 ดำเนินการคัดเลือกเอกชนในปี 2567 ก่อสร้างโครงการในปี 2568 - 2570 และเปิดบริการในปี 2571 เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนและเติมเต็มโครงข่ายถนนสายหลัก (Missing Link) ตอนบนของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดใกล้เคียง และเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 และ M9 เพิ่มศักยภาพในการรองรับและเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างสมบูรณ์

เร่งพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เชื่อมโยงโครงข่ายไร้รอยต่อ

3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 (M8) สายนครปฐม - ชะอำ ระยะทางรวมประมาณ 109 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงนครปฐม - ปากท่อ และช่วงปากท่อ - ชะอำ โดยจะดำเนินการก่อสร้าง ช่วงนครปฐม - ปากท่อ ก่อน มีจุดเริ่มต้นโครงการต่อเชื่อมกับ M81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ที่บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี รวมถึงมีเส้นทางเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 338 (ปิ่นเกล้า - นครชัยศรี) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) แนวเส้นทางโครงการมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ไปสิ้นสุดบริเวณ กม. ที่ 73 ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี - ปากท่อ) ระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร ลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร วงเงินลงทุนก่อสร้างรวม 29,156 ล้านบาท ปัจจุบัน ทล. อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2567 - 2571) เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ สามารถแบ่งเบาการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางสู่ภาคใต้ รองรับการคมนาคมและขนส่งสินค้าเชื่อมต่อจากจังหวัดต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือและภาคกลางตอนบนไปยังจังหวัดภาคใต้

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวเพิ่มเติมว่า ทล. ยังเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ M6 M7 และ M81 ซึ่งที่พักริมทางถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อให้ผู้ใช้ทางได้แวะพักผ่อน ทำธุระส่วนตัว ผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการเดินทาง ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากความเหนื่อยล้าหรือหลับใน เป็นการยกระดับมาตรฐานและการให้บริการของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสู่มาตรฐานสากล

โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินโครงการ ในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่ง ทล. คาดหวังว่าเอกชนผู้มีศักยภาพ จะนำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาออกแบบ ก่อสร้าง ดูแล บำรุงรักษาที่พักริมทาง ตลอดจนอำนวยความสะดวกและการบริการที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้ทางต่อไป ปัจจุบัน ทล. มีโครงการที่พักริมทางที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาและโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนมอเตอร์เวย์ M7 ซึ่งทั้ง 2 โครงการ อยู่ระหว่างขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน ตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ พ.ศ. 2562 คาดว่าจะจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้กลางปี 2566 เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 เปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วนในปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569

ส่วนโครงการที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา และโครงการที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่าง ทล. จัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เพื่อเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนต่อไป โดยโครงการที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์ M6 จะเป็นการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางจำนวน 15 แห่ง แบ่งการบริหารเป็น 2 สัญญา ส่วนโครงการพักริมทางบนมอเตอร์เวย์ M81 จะเป็นการบริหารที่พักริมทางจำนวน 6 แห่ง แบบสัญญาเดียว ด้านแผนการดำเนินการของทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ปลายปี 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 เปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วนในปี 2568 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ M6 และ M81 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569

นอกเหนือไปจากการพัฒนาทางหลวงสายหลักของประเทศแล้ว ทล. มุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่มีมาตรฐานสูง เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และองค์ประกอบทางหลวงอย่างที่พักริมทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางและขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงเป็นการยกระดับการให้บริการ และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ทาง รองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนเป้าหมายการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี