นายกฯ เคาะแก้สัญญาร่วมลงทุนไฮสปีดเทรน ผ่อน ARL 1.1 หมื่นล้าน

01 มี.ค. 2566 | 19:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2566 | 16:07 น.
744

นายกฯ ถกบอร์ด EEC เคาะแก้สัญญาร่วมลงทุนไฮสปีดเทรน เชื่อมสามสนามบิน เปิดทางเอกชนผ่อนจ่าย ARL รวม 7 งวด วงเงิน 1.1 หมื่นล้าน ชงครม.รับทราบ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ด EEC วันนี้ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีวาระสำคัญคือ แนวทางการปรับแก้สัญญาร่วมลงทุนใน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่า 224,554 ล้านบาท โดยมีเอกชนคู่สัญญา คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด 

ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยเสนอการปรับสัญญาตามขั้นตอนของกฎหมาย และให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) รวม 7 งวด

โดยการดำเนินการครั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับค่าสิทธิร่วมลงทุน ครบจำนวน 10,671 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท. อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ด EEC

ยึดหลักเกณฑ์ที่รัฐไม่เสียประโยชน์

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอการปรับสัญญาตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน ARL รวมทั้งเอกชนยังรับภาระหนี้ตามเดิม ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ที่รัฐไม่เสียประโยชน์ สร้างความเป็นธรรม และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร 

พร้อมช่วยให้บริการ ARL เกิดความต่อเนื่อง ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น รฟท. ไม่ต้องรับภาระขาดทุน และได้รับดอกเบี้ยชดเชยค่าเสียโอกาสครบถ้วน ภาคเอกชนสามารถแก้ปัญหาการเงิน รับสิทธิ์ เดินรถ ARL พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้ดีขึ้นได้ต่อเนื่อง

โดยขั้นตอนต่อจากนี้ กพอ. จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบ พร้อมมอบหมาย บอร์ด รฟท. พิจารณาการเสนอขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ด EEC

สร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย

นายอนุชา ระบุว่า มติของที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย กรณีเกิดผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทั้งจากสถานการณ์โควิด -19 ปัญหาความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 

โดยเฉพาะจำนวนยอดผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ที่ลดลงอย่างมากในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทุกฝ่ายได้พยายามหาแนวทางร่วมกันแก้ไขอย่างรอบคอบบนหลักการไม่ขัดต่อกฎหมาย อยู่บนความร่วมมือรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน ซึ่งหลักการบรรเทาผลกระทบที่สำคัญ 

 

นายกฯ ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ด EEC

 

เช็คความคืบหน้าโครงการล่าสุด

ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ขณะนี้ รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่ ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 160 กม. และพื้นที่บริเวณมักกะสัน (TOD) จำนวน 140 ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที คาดว่าการก่อสร้างและทดสอบระบบ พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570

ทั้งนี้เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา และจะสามารถเชื่อมโยงการเดินทางแบบไร้รอยต่อ เชื่อมกรุงเทพฯ สู่พื้นที่อีอีซี ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ เพิ่มรายได้การท่องเที่ยว สร้างประโยชน์ตรงถึงชุมชน เกิดการจ้างงานภาคธุรกิจ ไม่น้อยกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี ภาคแรงงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 16,000 อัตรา ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกสู่ประเทศไทย 

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ สกพอ. ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างสนามบินให้เอกชนแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันอีกครั้ง โดยที่ประชุม กพอ. ได้มอบหมายกองทัพเรือเริ่มขั้นตอนจ้างผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 เพื่อให้เงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วน คาดว่าเดือนเมษายน 2566 สำนักงานอีอีซี สามารถแจ้งให้เริ่มนับระยะเวลาพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกได้