ชง “กพอ.” ไฟเขียวชำระเงินค่าสิทธิแอร์พอร์ต ลิงก์ สางปัญหาไฮสปีด 3 สนามบิน

01 มี.ค. 2566 | 18:35 น.
839

“สกพอ.” จ่อชง “กพอ.” ไฟเขียวชำระเงินค่าสิทธิแอร์พอร์ต ลิงก์ 10 งวด แก้ปัญหาไฮสปีด 3 สนามบิน หลังเอกชนแบกหนี้อ่วม 830 ล้านบาท เซ่นพิษโควิด หวั่นเอกชนหยุดเดินรถให้บริการประชาชน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ปัจจุบัน สกพอ. เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

ขอความเห็นชอบหลักการให้แบ่งชำระเงินค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงการจัดสรรความเสี่ยงระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญาอย่างเหมาะสมเป็นธรรม 

ชง “กพอ.” ไฟเขียวชำระเงินค่าสิทธิแอร์พอร์ต ลิงก์ สางปัญหาไฮสปีด 3 สนามบิน

ขณะเดียวกัน รฟท. จะไม่เสียประโยชน์และเอกชนคู่สัญญาไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยเอกชนคู่สัญญายังคงเป็นผู้รับความเสี่ยงในจำนวนผู้โดยสาร การลงทุน ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงและให้บริการโครงการ ARL ส่วน รฟท. ก็จะพิจารณาบรรเทาผลกระทบให้ไม่เกินกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 นั้น ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่อาจคาดการณ์ได้ก่อนลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ไม่ใช่ความผิดของเอกชนคู่สัญญาและมีผลกระทบเกิดขึ้นจริงต่อโครงการฯ จึงควรพิจารณาความจำเป็นของการบรรเทาผลกระทบของเอกชนคู่สัญญาในการชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หลังจากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
 

“ผลจากการแก้ปัญหาในครั้งนี้จะช่วยให้การให้บริการของ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเอกชนคู่สัญญาสามารถชำระค่าสิทธิ ARL บางส่วนเพื่อรับสิทธิการดำเนินโครงการ ARL ได้ ในขณะที่ รฟท. ยังคงได้รับค่าสิทธิบางส่วนพร้อมดอกเบี้ยเพื่อลดภาระหนี้โครงการ ARL

ตามมติ ครม. รฟฟท. ไปให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ ประชาชนได้รับบริการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ตามกำหนด และเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐและประชาชน โดยแท้จริง”

ชง “กพอ.” ไฟเขียวชำระเงินค่าสิทธิแอร์พอร์ต ลิงก์ สางปัญหาไฮสปีด 3 สนามบิน

ที่ผ่านมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 จนถึงปลายปี 2565 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยเฉพาะ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (โครงการ ARL) ทำให้ผู้โดยสารและรายได้ของ ARL ลดลงจาก 70,000 คน/วัน เหลือ 10,000 คน/วัน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของโครงการต่อสถาบันการเงิน เอกชนคู่สัญญาจึงขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) เยียวยาผลกระทบ จากเดิมกำหนดให้เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าสิทธิ ARL เต็มจำนวน 10,671.09 ล้านบาท ในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 เป็นการขอแบ่งชำระค่าสิทธิ ARL พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 10 งวด  
 

ทั้งนี้หากไม่มีการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิ ARL อาจทำให้เอกชนกลายเป็นผู้ผิดสัญญา และต้องยุติการเดินรถ ARL ซึ่งจะทำให้บริการต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจาก รฟท. ได้โยกย้ายบุคลากรของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งเดิมทำหน้าที่เดินรถ ARL ไปเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้ว ทำให้ไม่มีบุคลากรมาเดินรถ ARL แทน

อย่างไรก็ตามหากให้ รฟฟท. ดำเนินการเดินรถ ARL ต่อไป รฟท. ต้องรับภาระขาดทุนจากการดำเนินงานเฉลี่ยปีละ 309.5 ล้านบาท โดยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2564 เป็นจำนวนประมาณ 3,095 ล้านบาท และมีผลการขาดทุนสูงถึง 830.73 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19