จ่อชง ครม.ปิดดีล แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน

28 ก.พ. 2566 | 08:48 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2566 | 18:25 น.

“สกพอ.” เปิดแผนคืบหน้าแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เผยแนวทางแก้ปัญหา 3 เรื่อง คาดได้ข้อสรุปภายในเดือน มี.ค.66 ก่อนชงครม.-อัยการสูงสุดไฟเขียว เร่งส่งมอบพื้นที่ 3 ช่วง ให้เอกชนครบ 100% ภายในกลางปีนี้ เลื่อนเปิดให้บริการปี 70

แผนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ผ่านมา 3 ปี กลับพบว่าเอกชนยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการได้ เนื่องจากเห็นว่าในสัญญาการร่วมลงทุนเป็นช่วงที่เกิดก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลต่อสถานะทางการเงิน จึงร้องขอให้รัฐบาลเยียวยาด้วยการขอยืดเวลาจ่ายค่าสิทธิรับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ออกไป ส่งผลให้โครงการกลับล่าช้าจากเดิมที่มีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2568 แต่ต้องเลื่อนเปิดให้บริการในปี 2570 แทน

 

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่ผ่านมาสกพอ.ได้เตรียมข้อมูลรายงานการจัดทำแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

“สาเหตุการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาการจัดทำสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สัญญาในปัจจุบันไม่สามารถรองรับการแก้ปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายสามารถดำเนินการได้”

 

หากคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) พิจารณาเห็นชอบ และจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่จะมีการประชุม พิจารณาเห็นชอบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคม 2566

 

 หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติหลักการการแก้ปัญหาของโครงการฯ และส่งให้สำนักอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจสอบ หากผ่านแล้วจะต้องนำมาเสนอที่ครม.พิจารณาเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ เพื่อดำเนินการลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนต่อไป

สำหรับการประชุมในครั้งนี้จะมีการพิจารณาเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ และความเหมาะสมของแนวทางแก้ปัญหา 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การปรับเงื่อนไขการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 10,671 ล้านบาท ปรับเป็นแบ่งชำระงวดละ 1,067 ล้านบาทต่อปี ไม่เกิน 7 งวด 2. การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

 

 นอกจากนี้ร่างสัญญาใหม่กำหนดให้ 3. ภาครัฐจะชำระเงินร่วมลงทุนราว 120,000 ล้านบาท ทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งมีเงื่อนไขว่าภาครัฐจะชำระเงินให้เอกชนได้ต่อเมื่อมีการเปิดให้บริการโครงการฯ หลังจากนั้นภาครัฐจะทยอยชำระเงินค่าก่อสร้างให้ภาคเอกชนเร็วขึ้นเป็นเดือนที่ 21 จากเดิมที่จ่ายเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จหรือในปีที่ 6 โดยมีการลดระยะเวลาที่รัฐจ่ายค่าก่อสร้างจาก 10 ปี เป็น 7 ปี ซึ่งภาคเอกชนจะลดผลตอบแทนโครงการไม่เกิน 5% เพื่อให้เอกชนมีแรงจูงใจในการก่อสร้างโครงการฯแล้วเสร็จ

 

 รายงานข่าวจากสกพอ.กล่าวต่อว่า ส่วนแผนการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนครบ 100% แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) หลังจากนั้นเอกชนจะสามารถเข้าพื้นที่เริ่มงานได้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในกลางปีนี้

จ่อชง ครม.ปิดดีล แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน

ด้านแผนการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร (กม.) ขณะนี้ได้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนครบ 100% แล้ว ที่ผ่านมาได้ดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคแล้วเสร็จ อีกทั้งช่วงดังกล่าวไม่มีผู้บุกรุก ทำให้ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เนื่องจากรฟท.ได้ดำเนินการแก้ปัญหาผู้บุกรุกแล้วเสร็จในช่วงที่มีการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงแล้ว คาดว่าเอกชนจะสามารถเข้าพื้นที่เริ่มงานได้ และดำเนินการก่อสร้างได้ภายในกลางปีนี้พร้อมกับช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

 

ขณะที่แผนการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 12 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องผู้บุกรุก ทำให้ต้องเวนคืนที่ดินเยอะ รวมทั้งพื้นที่ดังกล่าวจะต้องดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ขวางแนวเส้นทาง 2 จุด ประกอบด้วย 1. คลองไซฟอนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริเวณสามเสน และ 2. ท่อนํ้ามันของบริษัทขนส่งนํ้ามันทางท่อ (FPT) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงานได้ภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในกลางปี 2566 ซึ่งการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนทั้ง 3 ช่วง เร็วกว่าแผน จากเดิมที่กำหนดส่งมอบพื้นที่โครงการฯภาย ในเดือนตุลาคม 2566

 

อย่างไรก็ตามตามแผนเดิมโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินจะใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปี จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 แต่ภาพรวมปัจจุบันคาดว่าจะต้องเปิดให้บริการในช่วงปี 2570