เปิดแผน 14 สัญญา สร้างไฮสปีดไทย-จีน 1.79 แสนล้าน

19 ก.พ. 2566 | 12:07 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2566 | 13:47 น.
1.0 k

“รฟท.” เร่งเดินหน้าลงนาม 3 สัญญา ไฮสปีดไทย-จีน 1.79 แสนล้านบาท ภายในปีนี้ ด้านคมนาคมเปิดแผนคืบหน้าก่อสร้างอีก 11 สัญญา เล็งทดสอบเดินรถปี 69 คาดเปิดให้บริการภายในปี 70

โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน  ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) หรือไฮสปีดไทย-จีน ระยะทาง 253 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน179,400 ล้านบาท ปัจจุบันเหลืออีก 3 สัญญา ที่ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาจาก 14 สัญญา ที่ต้องเร่งรัด หลังล่าช้าไปจากแผน  

ขณะความคืบหน้า รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย ว่า 1.สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 9,930 ล้านบาท ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการก่อน เบื้องต้น รฟท. คงต้องเดินหน้าตามผลคำพิพากษาที่ได้ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ส่งผลให้กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10JV  ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กับ China Railway Engineering Corporation เป็นผู้ชนะประมูลในสัญญานี้ไป 
 

ทั้งนี้หลังจากได้รับคำพิพากษาแล้ว จะเชิญเอกชนมาเจรจาต่อรองเรื่องราคาอีกครั้ง โดยราคาที่เอกชนเสนอก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 9,349 ล้านบาท ขณะที่ราคากลางอยู่ที่ 11,386 ล้านบาท จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณา คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนได้ภายในปีนี้ 


ส่วนสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 18,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดนรฟท.อยู่ระหว่างรอความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ก่อน ทั้งนี้ต้องรอให้เอกชนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้แล้วเสร็จ (บีโอไอ) หลังจากนั้นจะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ได้ ขณะเดียวกัน รฟท.ได้เร่งเคลียร์พื้นที่เพื่อเตรียมส่งมอบให้เอกชน โดยเฉพาะช่วงบางซื่อ-พญาไท โดยงานเวนคืนที่ดินจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2566 คาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนได้ภายในปีนี้ 
 

ส่วนสัญญาสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติยังไม่อนุมัติสั่งจ้าง บริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) ให้ดำเนินงาน โดยมอบหมายให้ รฟท. ต่อรองราคากับเอกชนให้ลดลงอีก จากเดิมราคากลางสัญญาที่ 4-5 อยู่ที่ประมาณ 11,801 ล้านบาท โดยเอกชนเสนอราคาที่ 10,325 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 14.28% หากมีการเจรจาแล้วเสร็จ หลังจากนั้นให้นำกลับมาเสนอบอร์ด รฟท. อีกครั้ง ก่อนลงนามสัญญากับเอกชนได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 


รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 1 ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งทดสอบเดินรถเสมือนจริงได้ในปี 2569 เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการประชาชนต้นปี 2570 ปัจจุบันคืบหน้าแผนการก่อสร้างทั้งโครงการฯ อยู่ที่ 43.66%  ผลงานสะสม 16.72% ล่าช้ากว่าแผน 26.94%  จำนวน 11 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงินกว่า 100 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 2.สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท ดำเนินการโดย บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริง คืบหน้า 96% ล่าช้า 4% 3.สัญญาที่ 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 4,279 ล้านบาท โดย บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ คืบหน้า 9.41% ล่าช้า 39.16% 


4.สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 9,838 ล้านบาท โดย บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์ และอุตสาหกรรม คืบหน้า 17.49% ล่าช้า 51.99% 5.สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 9,848 ล้านบาท โดยบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ คืบหน้า 46.11% ล่าช้า 19.38% 6.สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7,750 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า SPTK (บ.นภาก่อสร้าง ร่วมกับบริษัทรับเหมาประเทศมาเลเซีย) คืบหน้า 2.89% ล่าช้า 61.78%

เปิดแผน 14 สัญญา สร้างไฮสปีดไทย-จีน 1.79 แสนล้าน

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า 7.สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 10,570 ล้านบาท โดย บมจ.บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น คืบหน้า 0.11% ล่าช้า 0.80% 8.สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้า CAN (บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด คืบหน้า 5.63% ล่าช้า 53.88% 

9.สัญญา 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ คืบหน้า 0.03% เร็วกว่าแผน 0.01% โดยเอกชนเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565  10.สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 9,429 ล้านบาท โดย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น คืบหน้า 0.18% ล่าช้า 0.46% 11.สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 8,560 ล้านบาท โดย บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง คืบหน้า 32.53% ล่าช้า 24.46%