คืบหน้า 3 สัญญาไฮสปีดไทย-จีน ถึงไหนแล้ว

27 ม.ค. 2566 | 09:38 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2566 | 09:38 น.

"การรถไฟ" เปิดแผน 3 สัญญาไฮสปีดไทย-จีน ลุ้นรอลงนามสัญญาร่วมเอกชน เผยสัญญา4-5 เล็งเจรจาต่อราคาเอกชน ด้านสัญญา3-1 ยืนคำพิพากษาศาลปกครอง ขณะที่สัญญา4-1 รอบอร์ดกบอ.เคาะแก้สัญญา

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา (ไฮสปีดไทย-จีน) ระยะที่ 1 ในสัญญาสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร(กม.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติยังไม่อนุมัติสั่งจ้าง บริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) ให้ดำเนินงาน

โดยมอบให้ รฟท. ต่อรองราคากับเอกชนให้ลดลงอีก จากเดิมราคากลางสัญญาที่ 4-5 อยู่ที่ประมาณ 11,801 ล้านบาท โดยเอกชนเสนอราคาที่ 10,325 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 14.28% หากมีการเจรจาแล้วเสร็จ หลังจากนั้นให้นำกลับมาเสนอบอร์ด รฟท. อีกครั้งในเดือน ก.พ.66 คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญา กับเอกชนได้ภายในเดือน ก.พ.66

 

"หลังจากลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นรฟท. ได้สอบถามไปยังกรมบัญชีกลาง และสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่ออนุมัติให้เอกชนสามารถก่อสร้างทางวิ่งก่อนได้ โดย รฟท.จะมอบหมายให้เอกชนเริ่มดำเนินงานก่อสร้างทางวิ่งได้ทันทีส่วนสถานีนั้นต้องรอให้รายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแล้วเสร็จก่อน"

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ด้านความคืบหน้าสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กม.นั้น ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการก่อน เบื้องต้น รฟท. คงต้องเดินหน้าตามผลคำพิพากษาที่ได้ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ส่งผลให้กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10JV  ประกอบด้วย

 

บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กับ China Railway Engineering Corporation เป็นผู้ชนะประมูลในสัญญานี้ไป ทั้งนี้หลังจากได้รับคำพิพากษาแล้ว จะเชิญเอกชนมาเจรจาต่อรองเรื่องราคาอีกครั้ง โดยราคาที่เอกชนเสนอก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 9,349 ล้านบาท ขณะที่ราคากลางอยู่ที่ 11,386 ล้านบาท จากนั้นจะเสนอให้บอร์ด รฟท. พิจารณา และลงนามในสัญญาต่อไป

นอกจากนี้สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. อยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งขณะนี้ต้องรอความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ก่อน รวมทั้งต้องรอให้เอกชนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้แล้วเสร็จ (บีโอไอ) ก่อน จึงจะสามารถออกประกาศแจ้งให้เริ่มงาน(NTP) ได้ ขณะเดียวกัน รฟท. กำลังเร่งเคลียร์พื้นที่เพื่อส่งมอบให้เอกชน โดยเฉพาะช่วงบางซื่อ-พญาไท คาดว่างานเวนคืนน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.66