วิธีเลือกซื้อทองเยาวราช ตรุษจีน 2566 ดูอย่างไรให้ไม่ถูกหลอก

19 ม.ค. 2566 | 13:32 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2566 | 13:44 น.

วิธีเลือกซื้อทองเยาวราช ช่วงเทศกาลตรุษจีน 2566 ผู้บริโภคดูอย่างไรให้ไม่ถูกหลอก หลัง สคบ. ออกมาแจ้งเตือน ต้องเช็คดูรายละเอียดให้ครบถ้วน พร้อมลงพื้นที่ติดตามการซื้อ-ขาย

สินค้ายอดนิยมในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2566 ซึ่งเป็นวันปีใหม่ของชาวจีน ส่วนใหญ่ชาวไทยเชื้อสายจีนมักมีการซื้อสินค้าประเภททองรูปพรรณ เพื่อมอบเป็นของขวัญเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต โดยเฉพาะบริเวณร้านทองย่านเยาวราช ซึ่งเป็นเสมือนแลนด์มาร์คสำคัญของการเลือกซื้อทองคำ 

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกมาแจ้งเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับการเลือกซื้อทองคำต้องเช็คดูรายละเอียดให้ครบถ้วน โดย ทองคำแท่ง มีหน่วยน้ำหนักที่เรียกว่า “บาท” ซึ่งจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 15.244 กรัม และ ทองคำรูปพรรณ 1 บาท จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 15.16 กรัม ถึงแม้จะเป็นทอง 1 บาทเหมือนกัน แต่จะมีราคาแตกต่างกัน เนื่องจากทองรูปพรรณจะมีค่ากำเหน็จ คือค่าแรงหรือค่าจ้างทำทองรูปพรรณด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตรุษจีน 2566 คึกคักท่องเที่ยวเงินสะพัด 2.1 หมื่นล้าน

 

ภาพประกอบข่าวทองคำตรุษจีน เยาวราช 2566

5 วิธีเลือกซื้อทองไม่ถูกหลอก

การเลือกซื้อทองรูปพรรณนั้น สคบ. มีข้อแนะนำกับผู้บริโภคมีความรอบคอบในการเลือกซื้อ ซึ่งร้านค้าทองต้องมีการแสดงสาระสำคัญ หรือ ฉลากไว้อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง โดยมีข้อสังเกต 5 เรื่อง ดังนี้

1.มีการแสดงราคาขายทองแท่งและทองรูปพรรณของแต่ละวันชัดเจน มีการแสดงราคารับซื้อคืน และมีการแสดงค่ากำเหน็จ ซึ่งค่ากำเหน็จอาจจะไม่ได้ติดที่หน้าร้าน แต่ติดอยู่ในถาด 

2.มีป้ายบอกประเภทสินค้าชัดเจนว่าเป็นสร้อย แหวน กำไล ต่างหู

3.มีการระบุปริมาณความบริสุทธิ์โดยระบุหน่วยเป็นกะรัต เปอร์เซ็นต์ ร้อยละ หรือใช้ สัญลักษณ์ K หรือ % เช่น 96.5% หรือ 24 K

4.ที่เนื้อทองคำทุกชิ้นจะต้องระบุชื่อและสถานที่ประกอบการหรือมีโลโก้ของโรงงานผู้ผลิต 
หรือ ผู้สั่งนำเข้า

5.ต้องระบุน้ำหนักของทองแต่ละชิ้นให้ชัดเจน โดยระบุหน่วยเป็นกรัม หรือ การใช้สัญลักษณ์ “ก” หรือ “g” แทนก็ได้

 

ภาพประกอบข่าวทองคำตรุษจีน เยาวราช 2566

สคบ.ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านทองเยาวราช 

ล่าสุด ในวันนี้ (19 มกราคม 2566) นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการ สคบ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สคบ. ผู้แทนสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ สถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ์ และสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายทองรูปพรรณ ณ บริเวณถนนเยาวราช 

ทั้งนี้เพื่อติดตามการการซื้อ-ขายทองคำ เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจที่จำหน่ายทองรูปพรรณบางรายขายทองรูปพรรณที่ไม่มีคุณภาพ และไม่จัดทำฉลากสินค้าตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2544) เรื่อง ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2546) เรื่อง ให้ทองรูปพรรณเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก (ฉบับที่ 2) ส่งผลให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ

 

ภาพประกอบข่าวทองคำตรุษจีน เยาวราช 2566

 

ฉลากทองคำต้องมีรายละเอียดชัดเจน

สำหรับในแนวทางการคุมฉลากทองคำนั้น ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายทองรูปพรรณ มีหน้าที่ต้องจัดทำฉลากทองรูปพรรณ ใช้ข้อความที่ตรงต่อความเป็นจริงไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศที่สามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ต้องแสดงรายละเอียด ทั้ง ชื่อสินค้า ชื่อที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ ปริมาณความบริสุทธ์ของทองรูปพรรณ น้ำหนักทองรูปพรรณ ค่าแรง หรือค่ากำเหน็จ และราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณตามที่สมาคมค้าทองคำกำหนด 

อย่างไรก็ตามหากหากผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าประเภททองรูปพรรณ หรือพบเห็นผู้จำหน่ายทองรูปพรรณไม่จัดทำฉลากสินค้า สามารถร้องทุกข์ต่อ สคบ. ได้ โดยอัตราโทษของการไม่แสดงฉลาก หรือฉลากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ