เปิดประวัติ "นอท กองสลากพลัส" หลังประกาศลงเล่นการเมือง

17 ม.ค. 2566 | 05:18 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2566 | 13:44 น.
10.0 k

เปิดประวัติ "นอท กองสลากพลัส" หลังประกาศตั้งพรรคเปลี่ยน ลงเล่นการเมือง รับศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไปเช็คข้อมูลอย่างละเอียดเขาเป็นใคร เคยทำธุรกิจอะไร และถูกตรวจสอบเรื่องอะไรกันบ้าง

หลังจากแสดงจุดยืนออกมาชัดเจนแล้วว่าจะเข้ามาสู่สนามการเมืองของ นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ "นอท กองสลากพลัส" CEO บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด ล่าสุดได้ประกาศตั้ง “พรรคเปลี่ยน” เป็นพรรคการเมืองใหม่ เพื่อเตรียมลงสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ 

พร้อมทั้งยืนยันว่า ตัวเองจะนั่งเป็นหัวหน้าพรรค โดยมีรายชื่อเป็นปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นจดแจ้งพรรคต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว รอแค่ กกต. รับรองจากนั้นจึงเริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกต่อไป 

ส่วนนโยบายของพรรค นายพันธ์ธวัช ยืนยันว่า จะเน้นนโยบายที่เป็นปากเป็นเสียง พูดถึง และแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ เพราะเรื่องนี้มีความเชี่ยวชาญ และรู้ปัญหามากที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : "นอท กองสลากพลัส" ประกาศตั้งพรรคเปลี่ยน

 

"นอท กองสลากพลัส" ประกาศตั้งพรรคเปลี่ยน

รู้จัก "นอท กองสลากพลัส"

นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ "นอท กองสลากพลัส" ปัจจุบันอายุ 43 ปี เขาเคยยอมรับว่า ตัวเองทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก ทำงานทั้งรับจ้าง กรรมการ ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯ เมื่ออายุประมาณ 17 ปี ผ่านการทำงาน ทั้ง บาร์บอย บาร์โฮส แมสเซนเจอร์ ก่อนจะเปิดเพจกูว่าแล้วมันต้องยิง เกี่ยวกับฟุตบอล

พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมาต้องหาเงิน โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้วยังเด็กอยู่มาก แถมครอบครัวก็ยากลำบาก โดยทำเพจกูว่าแล้วมันต้องยิง โดยที่ไม่ได้เงินมานานกว่า 1 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นก็ทำเว็บโป๊เพื่อหาเงินรายได้แทน แต่พอทำไปได้สักพักก็ถูกหักหลังจากผู้ที่มาร่วมงาน โดยนำปืนมาขู่และยึดเพจไปไปทำเป็นเว็บพนันบอลต่อ 

จากนั้นจึงทำงานเป็นที่ปรึกษาการตลาด หารายได้ทางออนไลน์ เพื่อหาเงินเลี้ยงชีวิต จนเข้าสู่วัย 40 ปี ก็ได้เข้ามาสู่วงการลอตเตอรี่ โดยเขาเคยบอกว่า เห็นธุรกิจนี้แล้วอยากทำให้ถูกต้องโดยการขายผ่อนออนไลน์ จากนั้นจึงมีการตั้งบริษัทขึ้นชื่อว่า บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด เพื่อมาทำธุรกิจการขายลอตเตอรี่ผ่านออนไลน์ ในชื่อ "กองสลากพลัส" โดยนั่งเป็นซีอีโอ

นอกจากการเป็น ซีอีโอของกองสลากพลัสแล้ว จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก่อนหน้านี้ยังพบว่า นายพันธ์ธวัช นยังนั่งเป็นกรรมการบริษัทอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 3 บริษัทด้วยกัน ประกอบด้วย

  • บริษัท เซเว่นคอนเนคท์ จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อันเกี่ยวเนื่องกับคอมพิวเตอร์ทุกชนิด
  • บริษัท เซเว่นเดย์ ซัคเซส จำกัด ประกอบกิจการให้บริการรับทำการตลาด วางแผนการตลาดออนไลน์ ออกแบบเว็ปไซต์
  • บริษัท เซเว่นโซลูชั่น จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัทโฆษณา

 

ภาพประกอบข่าว นอท กองสลากพลัส

กองสลากพลัสกับการถูกตรวจสอบ

ย้อนเวลากลับไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ในขณะนั้น ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นตามหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 27 มีนาคม 2565 ณ บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด 

หลังจากสืบสวนพบว่า มีแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ของกองสลากพลัส นำสลากกินแบ่งรัฐบาล มาสแกนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเปิดรับตัวแทนผู้ค้ารายย่อย ทั้งผู้ที่มีโควตาสลากอยู่แล้ว นำสลากมาสแกนเข้าระบบ และผู้ที่ไม่มีโควตาสลาก มาซื้อสลากก่อนจะขายต่อผ่านแพลตฟอร์ม 

โดยมีการปิดบังบาร์โค้ดของสลาก ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลของจริงหรือไม่ และยังขายสลากเกินราคา ก่อนเก็บหลักฐานต่าง ๆ ไปพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ และต่อมาทางกองสลากพลัสก็ได้ประกาศขายใบละ 80 บาท จากนั้นเรื่องจึงเงียบไป

จนกระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2565 กองสลากพลัส ได้สร้างกระแสฮือฮา หลังประกาศเป็นผู้สนับสนุนหลักทุ่มเงิน 67 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022 หรือ “AFF Mitsubishi Electric Cup 2022” ที่ทีมชาติไทยลงแข่งขัน

ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ฐานเศรษฐกิจเปิดประเด็นการดำเนินธุรกิจบริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจการขายลอตเตอรี่ผ่านออนไลน์ ในชื่อ กองสลากพลัส พบว่า บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้าน และกำไร 9.3 ล้านบาท ในปี 2564 แต่กลับซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลสูงถึง 67 ล้านบาท

ในวันเดียวกัน นายพันธ์ธวัช หรือ นอท กองสลากพลัส โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ กำไร 9 ล้าน คือปี 2564 จากยอดขาย 1,000 ล้านบาท แต่ในปี 2565 มียอดขาย 18,000 ล้านบาท จนทำให้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 กรมสรรพากร ได้เข้ามาตรวจสอบความถูกต้องในการจ่ายภาษี หลังจากกองสลากพลัสระบุว่ามียอดขาย 18,000 ล้านบาท 

ต่อมาในวันที่ 28 ธันวาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้ามาหารือถึงเรื่องการทำธุรกิจของกองสลากพลัส และขอให้ร่วมมือกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงิน

วันที่ 4 มกราคม 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ออกหมายเรียก ผู้บริหารกองสลากพลัส ชี้แจงเหตุรับเงินจากกลุ่มขบวนการฟอกเงิน หลังสืบพบหลักฐานการโอนเงินจากขบวนการฟอกเงิน แถมต่อมาเจ้าหน้าที่ บก.ปคบ. ยังได้เรียกนอท กองสลากพลัส เข้าพบพร้อมแจ้งว่า มีความผิดขายสลากเกินราคา และผิดกฎหมายการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ของสคบ. ด้วย

จนกระทั่งวันที่ 13 มกราคม 2566 นายพันธ์ธวัช ก็ได้เดินทางเข้าพบกับ DSI โดยหลังจากสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ระบุว่า เจอ 39 เส้นทางการเงินเชื่อมโยงโอนเงินเข้าบัญชี และให้เข้ามาชี้แจงภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ จะเดินทางมาหาหลักฐานเพิ่มที่สำนักงาน ในช่วงเช้าวันที่ 16 มกราคม 2566

 

ภาพประกอบข่าว นอท กองสลากพลัส

 

ข้อมูลธุรกิจกองสลากพลัส

บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 มีอายุเพียงแค่ 2 ปี ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีนายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ เป็นซีอีโอ 

ส่วนผู้ถือหุ้นมีทั้งหมด 4 ราย รวม 50,000 หุ้น แยกเป็น บริษัท เซเว่นไอเดีย จำกัด ถือหุ้นสูงสุด 47,000 หุ้น รองลงมาคือ นายจตุภัทร บุญสุวรรณ์ ถือหุ้น 1,500 หุ้น นายชัชวงศ์ ธรรมราภา ถือหุ้น 1,000 หุ้น และ นายศุภชัย ทิพย์สิทธิ์ ถือหุ้น 500 หุ้น

ขณะที่ผลประกอบการพบว่า ในปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 1,193 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,181 ล้านบาท เมื่อหักภาษีเงินได้ 2,440,731 บาท ทำให้มีกำไร 9,369,116 บาท ส่วนในปี 2565 นายพันธ์ธวัช ระบุว่า มียอดขายรวม 18,000 ล้านบาท เบื้องต้นมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท