คต.กางแผนปี66 รุกสินค้าเกษตร"ข้าว-ยาง-มันฯ"

16 ธ.ค. 2565 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2565 | 21:37 น.

คต.กางแผนปี66 รุกสินค้าเกษตร ข้าว-ยาง-มันฯ ลุยตลาดต่างประเทศ คุมเข้มมาตรฐานสินค้า ผลักดันการค้าชายแดน ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย สร้างแต้มต่อทางการค้า

นายรณรงค์  พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าปี2566 กรมฯ ยังเดินหน้าขับเคลื่อนงานสำคัญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นการผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง  เพื่อรักษาและขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าเดิมและแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่ โดยในปี 2566 กรมฯ มีแผนจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ (Thailand Rice Convention 2023) ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ เช่น งาน BIOFACH ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี งาน GULFFOOD 2023 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งาน FOODEX 2023 ณ ประเทศญี่ปุ่น งาน China - ASEAN Expo ครั้งที่ 20 (CAEXPO) 2023 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และงาน Fine Food 2023 ณ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

นายรณรงค์  พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

 

ส่วนสินค้ามันสำปะหลัง ยังรุกตลาดเดิมเจาะตลาดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือยุโรป ตุรกี นิวซีแลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดีอาระเบีย โดยที่ผ่านกิจกรรมในรูปแบบ Online และ Onsite รวมถึงการเชิญกลุ่มผู้นำเข้าเข้าร่วมงานมันสำปะหลังโลก ปี 2566 (World Tapioca Conference 2023) ณ จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

คต.กางแผนปี66 รุกสินค้าเกษตร\"ข้าว-ยาง-มันฯ\"

 

นอกจากนี้ กรมฯ ยังเร่งผลักดันการส่งออกพลาสติกชีวภาพโดยตั้งเป้าหมายการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลังไปยังต่างประเทศมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2567 ซึ่งมีสินค้านำร่อง คือ เทอร์โมพลาสติกสตาร์ช (Thermoplastic starch: TPS) และผลักดันการส่งออกแป้งฟลาวมันสำปะหลังปลอดกลูเตนไปยังตลาดที่มีศักยภาพ อาทิ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

 

คต.กางแผนปี66 รุกสินค้าเกษตร\"ข้าว-ยาง-มันฯ\"

 

รวมถึงการคุมเข้มมาตรฐานสินค้า ที่กรมฯ มุ่งกำกับดูแลมาตรฐานสินค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ไทยส่งออก - นำเข้า เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าส่งออกที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลทั้ง 9 ชนิด (ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำ แป้งมันสำปะหลัง ปุยนุ่น ปลาป่น และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) และกำกับดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า ซึ่งสินค้าสำคัญที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล คือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่นำเข้าตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา และไทย - สปป.ลาว

“การกระตุ้นและเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนไทย โดยปี 2566 จะจัดคณะเจรจาผลักดันเปิดด่านชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่ยังไม่เปิดทำการ และอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าชายแดนให้เกิดการขยายตัวทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรม และกรมฯ ยังมีแผนดำเนินงานโครงการขยายการค้าการลงทุนชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยการจัดมหกรรมการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย (ในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 66) มหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ด้านลาว (จังหวัดเชียงราย หรือตาก หรือหนองคาย หรือมุกดาหาร หรือนครพนม) และด้านเมียนมา/ด้านกัมพูชา (จังหวัดกาญจนบุรี หรือสระแก้ว หรือตราด)

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศข้อมูลการค้าและการลงทุน (Commerce Intelligence Centre [Border and Transit Trade and SEZ]) หรือระบบ CIC BTS ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลและระบบงานสำคัญของกรมฯ ได้แก่ ข้อมูลสถิติการค้าชายแดน – ผ่านแดน และการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลการออกหนังสือสำคัญการนำเข้า – ส่งออกสินค้า และข้อมูลมาตรการ NTMs ของประเทศคู่ค้าที่มีผลกระทบต่อสินค้าไทย ซึ่งกรมฯ มีแผนที่จะเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ภายในต้นปี 2566

ส่วน การปกป้องและตอบโต้ทางการค้า (AD) สินค้าที่ไทยจะหมดอายุการใช้มาตรการฯ ในปี 2566 และคาดว่าอุตสาหกรรมภายในอาจจะยื่นขอให้เปิดทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการฯ มีจำนวน 2 กรณี ได้แก่ (1) สินค้ายางในรถจักรยานยนต์จากจีน จะหมดอายุมาตรการในวันที่ 29 พ.ย. 66 (2) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนจากจีน จะหมดอายุมาตรการในวันที่ 12 ธ.ค. 66   ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2565 ไทยมีการดำเนินการใช้มาตรการ AD จำนวน 13 กรณี (จากทั้งหมด 24 กรณี) ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มเหล็ก ในส่วนกรณีที่ไทยถูกประเทศคู่ค้าใช้มาตรการ (1) AD 71 กรณี  (2) CVD 5 กรณี (3) SG 14 กรณี

รวมถึง มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) ที่กรมฯ ได้ดำเนินการในการปกป้องและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทุกรายในการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตน และจะเร่งผลักดันใหม่ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น  FTA และ RCEP เป็นต้น เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า ลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทยซึ่งในปี 2565 (มกราคม – ตุลาคม) ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง FTA เป็นมูลค่า 71,882.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ RCEP คิดเป็นมูลค่า 819.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ