ทายาทรุ่น 3 ‘โคคา สุกี้’ ยึด Core Values เสริมเสน่ห์ธุรกิจ

11 ธ.ค. 2564 | 10:17 น.

"โคคา สุกี้” ในยุคของเจนเนอเรชั่น 3 ที่ต้องเข้ามาฝ่าฟันธุรกิจ ในช่วงแห่งการดิสรัปของทั้งเทคโนโลยี โรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของผู้บริโภค ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ “นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ” ประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ ร้านอาหารในเครือโคคา กรุ๊ป

จะฝ่าฟันสร้างธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง แต่เธอก็กำลังเดินหน้าด้วยแนวคิดที่ยึดมั่นกับ Core Values ขององค์กร เพื่อสร้างเสริมให้ “โคคา สุกี้” มีเสน่ห์ประทับใจผู้บริโภคต่อเนื่อง

ทายาทรุ่น 3 ‘โคคา สุกี้’  ยึด Core Values เสริมเสน่ห์ธุรกิจ

 “นัฐธารี” บอกว่า เรื่องของ Core Values เป็นสิ่งสำคัญที่ทายาททุกรุ่นห้ามลืม อะไรคือเสน่ห์ของธุรกิจ ทำไมเราต้องมารับช่วงต่อ และการทำให้ธุรกิจครอบครัวคงคุณค่าของธุรกิจนั้นในทุกๆ รุ่น ทุกๆ สถานการณ์ ไม่ว่ารูปแบบหรือบริบทใดก็ตาม

แต่จากวิกฤติ COVID-19 “โคคา สุกี้” เป็นหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จนทำให้ผู้บริหารหญิงคนนี้ต้องปิดสาขาสยามสแควร์ ที่อยู่มานาน เพื่อรักษาองค์กรและทีมงานให้อยู่รอด พร้อมปรับโมเดลสร้างเป็นธุรกิจดิลิเวอรี่ ให้พนักงานมาเป็น Coca Man ขับรถส่งอาหาร โดยค่าจัดส่งเป็นของพนักงานทั้งหมด 


ผลกระทบครั้งนี้ ทำให้ “นัฐธารี” สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ปรับตัวเองอย่างรวดเร็ว 
ทั้งการปรับปรุงร้านให้ดูทันสมัยมากขึ้น ขนาดร้านที่เล็กลง เปิด Coca Pop Up รื้อภาพจำภัตตาคารโคคา สุกี้ กลายเป็นร้านสบายๆ ที่รับได้ทั้งกลุ่มครอบครัวรุ่นใหม่ รุ่นเก่า หรือกลุ่มเพื่อนฝูงที่จะนัดเข้ามากินสังสรรค์ 

โดยพยายามกระจายสาขา Pop Up ไปตามนอกเมือง รองรับผู้บริโภคที่ต้องทำงานที่บ้าน เรียกว่ายกร้านไปเสริฟให้ใกล้ที่สุด สะดวกที่สุด พร้อมกันนี้ ยังสร้างโมเดลธุรกิจแบบ Kiosk ที่เปิดตามงานอีเว้นท์ต่างๆ เสริฟเมนูของทานเล่น อย่างปาท่องโก๋ ของกินเล่นง่ายๆ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่

 

การบริหารงาน ในฐานะที่เป็นทายาท “นัฐธารี” ไม่ได้ยึดติดกับอะไรตรงนั้น เธอยอมรับความผิดพลาด และเปิดรับฟังความคิดเห็น สิ่งที่เธอคิดหากผิด ทำแล้วไม่เวิร์คก็เลิกได้ และพร้อมที่จะขอโทษ และปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ให้เหมาะสม 
 ขณะเดียวกัน ก็นำระบบ Aglie มาบริหาร ทำให้งานทุกอย่างขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น คล่องตัวขึ้น ทุกคนต้องมีความพร้อมในการปรับทั้งคนรุ่นเก่าและใหม่ 
 

 

หลายอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย และปัจจัยรอบด้าน ทำให้โคคา สุกี้ สามารถเดินหน้าต่อได้ แต่สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารหญิงรุ่นใหม่คนนี้ไม่เปลี่ยน และยึดเป็นหลักการสำคัญในการทำธุรกิจคือ วัตถุดิบต้องดี มีคุณภาพ เพิ่มเติมคือ ต้องรู้ที่มาที่ไป ผักและเนื้อต้องสด จากการเรียนรู้มาทางด้านโภชนาการและวิทยาศาสตร์การอาหารโดยตรง เธอจึงสร้าง Coca Boutique Farm ปลูกผลผลิตออร์แกนิกสำหรับใช้ในร้านโดยเฉพาะ พร้อมทั้งทำโครงการซื้อข้าวโดยตรงจากเกษตรกร ที่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรและชุมชน เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ


รวมไปถึงหัวใจทางด้านบริการ และความซื่อสัตย์ต่อผู้มีส่วนร่วม ทั้งพนักงาน ผู้บริโภค และซัพพลายเออร์ ทั้งหมดนั่นคือ Core Value ที่ผู้นำคนนี้ยึดปฏิบัติ
 จากเป้าหมายที่คุณพ่อพูดเปรยไว้ว่า “อยากเห็นโคคาอยู่ถึง 500 ปี” ทำให้ทายาทรุ่น 3 คนนี้ศึกษางานอย่างหนัก เธอใช้เวลา 5 ปีในการศึกษาโปรดักต์ของโคคาสุกี้อย่างละเอียด หาคำตอบว่าลูกค้าจริงๆ ของแบรนด์คือใคร จะทำอย่างไรให้เข้าถึงลูกค้ารุ่นใหม่ ขณะที่ลูกค้าเก่าก็ยังเหนียวแน่น เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยนไป นั่นคือสิ่งที่ซีอีโอหญิงคนนี้เลือกแล้วว่าดีที่สุด เพื่อเดินหน้า “โคคาสุกี้” ให้เติบโตได้ 500 ปี อย่างที่ผู้เป็นบิดามุ่งหวัง 

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,738 วันที่ 9 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564