อนันดา รีสตาร์ทรอบใหม่ แกร่งด้วยทีมและโปรเจค

27 พ.ย. 2564 | 09:31 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2564 | 17:07 น.

ระบบเหล่านี้ มันทำให้เฟรนลี่ในการทำงาน รักใคร่สามัคคีกันในการทำงาน ลูกพี่ต้องห้ามให้ลูกน้องตาย ใครเก่งไม่เก่งลูกพี่ต้องดิ้น ช่วยโค้ชชิ่ง มันเป็นกลไก ที่เขาทำงานกันเอง

จากวิกฤติโควิด-19 ยาวต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปี ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซวนเซ ผู้นำอนันดา "โก้ -ชานนท์ เรืองกฤตยา" ประธานเจ้าหน้าบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANANDA จึงชวนทุกคนลุกขึ้นมาเอ็กเซอร์ซายด์ Thailand Re-Open, Realestate Re-Start  

อนันดา รีสตาร์ทรอบใหม่ แกร่งด้วยทีมและโปรเจค

"เราต้องการจุดประกาย...ผมตีกลองออกรบ เราต้องสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้ได้ อนันดามีการออกแบบใหม่ ออกของใหม่ๆ ปีหน้าจะลอนซ์เกือบ 3 หมื่นล้านบาท จะมีโปรเจคใหม่ มีบ้าน มีเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์"

การลุกขึ้นรีสตาร์ทอนันดาอีกครั้ง ไม่ใช่แค่การรีสตาร์ทธรรมดา แต่เป็นการรีสตาร์ทพร้อมปรับโพซิชั่นตัวเองให้ขยายฐานลูกค้ามากขึ้น จากเดิมที่เคยทำแต่คอนโดมิเนียม ราคาระดับกลาง ทำเลติดรถไฟฟ้า

อนันดา รีสตาร์ทรอบใหม่ แกร่งด้วยทีมและโปรเจค

ครั้งนี้ "คุณโก้" ยังคงเสน่ห์ และเอกลักษณ์ของอนันดาไว้ เพราะยังไงก็ยังเป็นทำเลที่ต้องการของตลาด หากแต่เพิ่มความหรูหราเซ็กซี่เข้าไปด้วยความพรีเมี่ยม ในทำเลทองอย่าง สุขุมวิท 38 จุฬา-สามย่าน พระราม 4 และอีกหลายทำเล เรียกว่าเป็นที่พักอาศัยระดับซูเปอร์ลักชัวร์รี่ พร้อมกับสร้างแบรนด์ใหม่ เจาะตลาดใหม่ 

นอกจากทำเลที่ดี การออกแบบที่เปลี่ยนไป โดยหันไปจับตลาดใหม่ ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ ยังมองว่า "อสังหาริมทรัพย์ต้องมีซอฟต์แวร์" และ "ซอฟต์แวร์" ที่อนันดานำมาเติมเต็ม ก็คือพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ อย่างโครงการลักชัวรี่คอนโดมิเนียม “COCO Parc” แบรนด์ใหม่ที่อนันดาได้ ดุสิตธานี มาเป็นซอฟต์แวร์ด้านบริการ

 

อนันดา รีสตาร์ทรอบใหม่ แกร่งด้วยทีมและโปรเจค

"เรามีที่ดินที่สวนลุม เอากลับมาทำใหม่ ร่วมกับดุสิตธานี เราให้ดุสิตมาเป็นซอฟต์แวร์ให้เรา มาดูแลด้านบริการ มาเป็นนิติบุคคลของโครงการ เรากำลังมองว่า เซอร์วิสที่เราร่วมกับดุสิต เราอาจจะทำแอปเข้ามาลิงค์ที่ใช้งานอำนวยความสะดวกให้ที่นี่ก่่อน แล้วจะเปิดให้คนอื่นใช้ด้วย"

 

ส่วนอีกแบรนด์ คือ Culture ที่จะทำเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เช่น โครงการที่ จุฬา - สามย่าน และทองหล่อ ซึ่งจะใส่ใจตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง ที่คำนึงถึงความยั่งยืน ลดมลพิษ และเพิ่มการรีไซเคิลระหว่างการก่อสร้าง โดยเรื่องของ Sustainability ผู้บริหารคนนี้ยังมองว่า องค์กรใหญ่ๆ ในบ้านเรา ยังทำเรื่องเกี่ยวกับพวกนี้น้อยเกินไป ทุกคนสามารถทำได้อีก และอนันดาจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง

 

"เรามองว่า เรียลเอสเตทมันผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ตอนนี้มันเริ่มไต่ขึ้นมา ไตรมาสสามปีหน้า น่าจะเป็นจังหวะที่ดี เราไม่ไ่ด้ดัมฟ์ราคาขาย ทำเลติดรถไฟฟ้า ราคาที่ดินมันจะสูงตลอดเวลา" 

 

นอกจากการสร้างแบรนด์ใหม่ เจาะตลาดใหม่ กระบวนการทำงานของอนันดาได้ลงทุนด้านซอฟต์แวร์อีกมากมาย พัฒนาระบบที่ช่วยให้การทำงานมีความคล่องตัว แม้บุคลากรจะลดลงไป จาก 188 คนเหลือ 70 คน แต่ประสิทธิภาพการทำงานกลับดีกว่าเดิม กำไรดีขึ้นกว่าเดิม แวลูมากขึ้นกว่าเดิม

 

"คุณโก้" บอกว่า ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา อนันดาบุกเต็มที่ แต่มาเจอช่วงโควิด -19 ก็เหมือนกับการเข้าห้องเย็น ลูกน้องเราก็มีงอแงบ้าง แต่เราก็ไมไ่ด้ง้อมาก ที่เหลืออยู่ เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม 

 

อนันดาใช้ทั้ง Data Revolution และ Technology Collaboration ใช้เทคโนโลยีมาทำระบบ Salesforce บูรณาการเข้ากับ Dashboard ประชุมกันบน Zoom แบบไม่มีลำดับขั้น ทุกคนประชุมพร้อมกัน พนักงานประชุมพร้อมกับซีอีโอ ส่วนของลูกค้า ก็สามารถเลื่อนดูได้เลยว่า พอใจในสินค้าไหม ถ้าไม่พอใจ คนของอนันดาที่รับผิดชอบต้องไปดูแล ผ่านการทำ Scrolling ที่มีทุกวัน ใครที่คอนแทคลูกค้า คนนั้นต้องตอบ...ถ้าคนไหนไม่เพอร์ฟอร์ม เขาไปเอง เราไม่ต้องพูดมาก แต่ใครทำดี เรามีรางวัล 

 

"ระบบเหล่านี้ มันทำให้เฟรนลี่ในการทำงาน รักใคร่สามัคคีกันในการทำงาน ลูกพี่ต้องห้ามให้ลูกน้องตาย ใครเก่งไม่เก่งลูกพี่ต้องดิ้น ช่วยโค้ชชิ่ง มันเป็นกลไก ที่เขาทำงานกันเอง ทำงานกันเป็นแพลทฟอร์ม"

 

หลังจากหลุดจากห้องเย็น อนันดาตีกลองรบ พร้อมสู้ศึกต่อ ด้วยศักยภาพของโครงการใหม่ๆ และประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรที่มีอยู่ ขณะเดียวกัน ผู้นำทัพ ก็มีไอเดียที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่จะตอบรับกับโลกยุคใหม่ ส่วนจะเป็นอะไร ต้องติดตามดูให้ดี

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,734 วันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564