3 ทักษะแห่งอนาคต ของผู้นำธุรกิจครอบครัว

01 ธ.ค. 2564 | 17:39 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2564 | 00:39 น.

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ในแต่ละองค์กรผู้นำคือเข็มทิศที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จที่มุ่งหวังเอาไว้ ดังที่ Saara Bange ผู้ช่วยผู้อำนวยการแห่ง Aalto University Executive Education กล่าวว่าเป้าหมายและทิศทางกลยุทธ์ขององค์กรอยู่ที่ภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งตามกรอบภาวะผู้นำของ Aalto University Executive Education ระบุว่าความรู้ ทักษะ และความสามารถของผู้นำที่มีประสิทธิภาพนั้นมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่

 

1. การสร้างความเข้าใจเชิงลึกและการตีความ (sensemaking and interpreting)

 

2. การปรับตัวและการทำให้องค์กรดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน (adapting and aligning)

 

3. การสร้างสรรค์ริเริ่มสิ่งใหม่ๆและการเติบโต (renewing and growing)

 

ทั้งนี้ทักษะสำคัญของผู้นำคือการแจกแจงรายละเอียดของข้อมูลและนำมาใช้ช่วยในการตัดสินใจ โดยมีการสร้างความเข้าใจเชิงลึกและการตีความเป็นกุญแจสำคัญ เนื่องจากเป็นการอธิบายวิธีที่เราเข้าใจโลกรอบตัว หน้าที่ของผู้นำคือการถาม เช่น เกิดอะไรขึ้น /จะเกิดอะไรขึ้น/ ความเชื่อใดที่จะมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์นี้/ อย่างไรก็ตามก็จำเป็นต้องเข้าใจและยอมรับว่าคำตอบที่ได้จะไม่มีวันสมบูรณ์แบบ

ธุรกิจครอบครัว

แต่กระนั้นความไม่สมบูรณ์แบบนี้ก็ไม่อาจขัดขวางการตัดสินใจและการดำเนินการซึ่งนำเราไปสู่ปัจจัยที่ 2 คือการปรับตัวและการทำให้องค์กรดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหมายถึงความสามารถของผู้นำในการปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงโดยรอบตามที่ได้ถูกตีความไว้

 

ทั้งในเรื่องของกลยุทธ์ บริบท และเหตุการณ์ทั้งในระดับจุลภาคและระดับมหภาคของบริษัท ส่วนในระดับบุคคล หมายความถึงผู้นำที่ตระหนักถึงรูปแบบพฤติกรรมและวิธีการทำความเข้าใจโลก สามารถนำความรู้นั้นมาใช้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้ ขณะที่ทักษะที่ 3 คือการสร้างสรรค์ริเริ่มสิ่งใหม่ๆและการเติบโต ซึ่งรวมทั้งการปรับเปลี่ยนส่วนบุคคลของผู้นำและผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนและการเติบโตขององค์กร และสิ่งนี้อาจท้าทายทั้งผู้นำที่เป็นเจ้าของและกรอบความคิดขององค์กรด้วย

 

การปรับตัวและการทำให้องค์กรดำเนินไปในทิศทางเดียวกันต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การสร้างสรรค์ริเริ่มสิ่งใหม่ๆและการเติบโตหมายถึงความสามารถของผู้นำในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง และการเปลี่ยนแปลงที่น่าประหลาดใจในสภาพแวดล้อมการทำงาน ต้องจำไว้ว่าบริบทขององค์กรและบริบทที่กว้างขึ้นอยู่ในขอบเขตของภาวะผู้นำ

 

กระนั้นแม้แต่ผู้นำที่มีทักษะมากที่สุดก็ไม่สามารถทิ้งรอยประทับใจเชิงบวกได้ หากไม่มีโครงสร้างและกรอบการทำงานที่สนับสนุนภาวะผู้นำ ทั้งนี้ความสามารถที่ถูกสั่งสมมา ความรู้ ทักษะและค่านิยมของทั้งองค์กรและครอบครัวจะเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขสำหรับกิจกรรมของผู้นำ โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการเสริมสร้างความรู้ ทักษะ และความสามารถส่วนบุคคลเหล่านี้ จะทำให้ผู้นำมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเห็นความสำเร็จที่ปรากฏได้ในทีม องค์กร และสังคมรอบข้าง

 

ที่มา: Andrews, A. 2021. Three Key Features Of An Effective Leader. Available:https://familybusinessunited.com/ 2021/10/21/three-key-features-of-an-effective-leader/

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,735 วันที่ 28 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564