Feel Good Factors พลังยอดมนุษย์ ของธุรกิจครอบครัว

25 ต.ค. 2564 | 05:37 น.

Designing Your Family Business โดยรศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ธุรกิจครอบครัวที่มีอายุยืนยาวมักมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอย่างมากเพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินสำคัญขององค์กร จึงมีการศึกษาแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพของพนักงานกันอย่างแพร่หลาย หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยใหม่จาก Trinity Business School ซึ่งเปิดเผยว่า พนักงานที่พบว่างานของตนมีคุณค่าจะเพิ่มโอกาสในการปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้นโดยแนะนำวิธีพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้กับบริษัทของตน

 

ถ้าหากว่าธุรกิจครอบครัวสร้างระบบเปิดรับฟังข้อเสนอในการที่จะพัฒนาให้งานต่างๆ มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้น และมีกระบวนการนำไปสู่การปฎิบัติอย่างจริงจังแล้วจะทำให้เกิดความก้าวหน้าในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำองค์กรมีการเติบโตที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนั้นไม่ว่าจะผ่านระยะเวลามายาวนานแค่ไหนบริษัทก็ยังคงจะก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ

 

จากการศึกษาของผู้ช่วยศาสตราจารย์ Amanda Shantz ผู้อำนวยการ MBA ของ Trinity Business School แห่ง Trinity College Dublin พบว่าถ้าพนักงานเห็นคุณค่างานของตนเองจะเพิ่มโอกาสในการสร้างประสิทธิภาพให้ดีขึ้นเพราะจะช่วยพัฒนาพฤติกรรมการออกความเห็นของพนักงานได้

 

ทั้งนี้พฤติกรรมการออกความเห็น หมายถึงการที่พนักงานเสนอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการพัฒนาวิธีการทำงานให้แก่องค์กรได้ Shantz และคณะยังพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าของงานกับพฤติกรรมการออกความเห็นนั้นจะแข็งแกร่งที่สุดเมื่อพนักงานมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านายของพวกเขา ซึ่งทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลจากพนักงาน 249 คนในบริษัทที่ปรึกษาและธุรกิจก่อสร้างในสหราชอาณาจักร

Feel Good Factors พลังยอดมนุษย์ ของธุรกิจครอบครัว

กลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานทำงานในหน้าที่แตกต่างกันไปทั้งในตำแหน่งด้านบริหารจัดการทรัพยากรอาคาร การขนส่ง การก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการบริหาร เป็นต้น โดยขอให้พนักงานแต่ละคนทำแบบสอบถามและภายหลังจะมีการวิเคราะห์เทียบกับการทบทวนผลการปฏิบัติงานจากหัวหน้างาน

 

การศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการคุณค่าของงานกับผลการปฏิบัติงานที่มีความสัมพันธ์ทางบวกคือยิ่งพนักงานเห็นคุณค่าในงานมากเท่าไหร่ผลปฎิบัติงานก็ดีมากขึ้นเท่านั้น รวมถึงความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างพนักงานกับหัวหน้างานที่มีอิทธิพลต่อผลการปฎิบัติงานเช่นกัน

 

การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้พนักงานพบเป้าหมายในการทำงานและเห็นคุณค่าของงานจะมีการเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์และมีนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและนำไปสู่ประสิทธิผลขององค์กรในที่สุดนั่นเอง ปรากฎการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Feel Good Factors

 

ในธุรกิจครอบครัวก็คือความรู้สึกในคุณค่าของงานที่ทำ วัฒนธรรมองค์กรที่ดี ความเชื่อมั่นในผู้นำและผู้ร่วมงาน สภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจครอบครัวมีความยั่งยืนและมีการเติบโตที่มั่นคง

 

ที่มา: Andrews, P. February 23, 2021. People With Meaningful Jobs Make More Impact. Available: https://familybusinessunited.com/2021/02/23/people-with-meaningful-jobs-make-more-impact/

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,725 วันที่ 24 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564