ททบ.5 เปิดแอร์ไทม์เสนอผลการศึกษาวิจัยฯ “กัญชง”หนุนภารกิจแพทย์แผนไทย

18 พ.ย. 2564 | 16:13 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2564 | 23:43 น.

ททบ.5 จับมือ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เซ็น MOU เปิดแอร์ไทม์ประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาวิจัยแปรรูปกัญชง และสมุนไพรไทย ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ ททบ. 5 หวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

กัญชง พืชเศรษฐกิจตัวใหม่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก หลังรัฐบาลปลดล็อกให้สามารถ อนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายประกอบกับความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และความสามารถทางการเพาะปลูกและการผลิตสูงของไทยทำให้กัญชงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทั้งด้านการศึกษาวิจัย ผลิต 

ททบ.5 ผนึกกำลังแพทย์แผนไทยสร้างปรากฏการณ์ “กัญชง”  เปิดศูนย์วิจัย-หนุนเกษตรกรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ที่สำคัญสารสกัด CBD ที่ได้จากกัญชงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาลและเป็นโอกาสในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากและระดับประเทศ เพราะกัญชงสามารถสร้างมูลค่าได้ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

 

สำหรับมูลค่าการตลาดผลิตภัณฑ์กัญชงไทย มีการประเมินว่าจะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐบาลปลดล็อค โดยจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาทในปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย 126 %ต่อปี และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 21.6 %ต่อปี ปัจจุบันธุรกิจการค้ากัญชงในตลาดโลกส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกาแคนาดาจีนและออสเตรเลีย เป็นหลัก 

 

นอกจากนี้หลังจากประเทศ เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้รับความนิยมอย่างสูง กัญชงเป็นพืชเศราฐกิจที่จะมาเติมเต็มไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจการท่องเที่ยวหรือการแพทย์ และเนื่องจากกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่จึงมีองค์ความรู้ใหม่ๆมากมายและต้องไปอาศัยความรู้จากผู้ที่เชี่ยวชาญและนำเสนอผ่านผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ

 

ล่าสุดสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก จับมือกับ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาวิจัยแปรรูปกัญชง   และสมุนไพรไทย สนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับผลการศึกษาวิจัย การแปรรูปกัญชงและสมุนไพรเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์, การดูแลสุขภาพ  และทางการค้า  พร้อมนำเสนองานผลการศึกษาวิจัยฯ ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ ททบ. 5 

 

พลเอก รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.5 เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid 19 ตลอดระยะเวลา2 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะระบาดต่อไปส่งผลทำให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวลงอัตราหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจนน่าวิตก  โดยหนี้ครัวเรือนคิดเป็น 14.1 ล้านล้านบาทหรือ 93%ของ GDPประเทศ ส่วนหนี้สาธารณะคิดเป็น 8.4 ล้านล้านบาทหรือ 57.3 %ของ GDP ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย ที่สะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพทางการเงินการคลังและสภาพเศรษฐกิจของประเทศและอีกทั้งตัวเลขการว่างงานก็สูงขึ้นตามลำดับจากสถานการณ์ดังกล่าวสามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่าในปีหน้าจะเป็นปีที่ประเทศมีความท้าทายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 รัฐบาลได้แถลงนโยบายโดยให้กัญชา กัญชงเป็นกลไกช่วยเหลือเกษตรกร  และใช้ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรและประชาชน และด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่มีที่ตั้งตามภูมิศาสตร์ พืชชนิดนี้จึงเจริญเติบโตได้ดีประกอบกับเกษตรกรไทยมีองค์ความรู้ในด้านการปลูกที่ดี มีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ รวมถึงสถาบันการศึกษาในประเทศได้ดำเนินการโครงการวิจัยพัฒนาและร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกและการผลิตแก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน

 

ทั้งนี้ประเมินว่าผลิตภัณฑ์กัญชงไทยจะเติบโตจากปี 2563 -ปี 2568 มีมูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท กัญชงจึงถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจทั้งในระดับฐานรากและระดับประเทศ และคาดว่ามูลค่าของกัญชงทั้งโลกจะอยู่ที่ประมาณ 8แสนล้านบาทในปี2563 และจะโตขึ้นถึง 3 ล้านล้านบาทในปี 2568

 

ซึ่งในขณะนี้มีประเทศต่างๆกว่า 68 ประเทศที่เปลี่ยนนโยบายจากพืชเสพติดเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ทำให้มีการส่งเสริมการปลูกกัญชงเพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์และทางการค้า กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยที่มีอนาคตสดใส ถ้าหากมีการนำไปแปรรูปจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยได้อย่างมหาศาล

 

“ททบ. 5 ในฐานะทีวีที่ให้บริการสาธารณะเพื่อความมั่นคง ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับภาคการเกษตร ได้เล็งเห็นว่า กัญชง มีสารสำคัญที่สามารถนำไปสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาโรคและการดูแลสุขภาพได้อย่างหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ และช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดีจึงจับมือกับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก พัฒนาศูนย์เรียนรู้ วิจัยและพัฒนาพืชกัญชง ขึ้น ที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี   นำร่องทดลองปลูกกัญชงเพื่อสกัดและแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อไป”

 

ด้าน นายแพทย์ ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในปี 2562 รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้กัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและชอบด้วยกฎหมาย

 

ในความร่วมมือนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรับผิดชอบโดยการสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับผลการศึกษาวิจัยการแปรรูปกัญชงและสมุนไพรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์รวมทั้งการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขข้อ 3 ที่เน้นนโยบายสนับสนุนส่งเสริมสมุนไพรไทย กัญชา กัญชง ให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีคุณค่าทางการแพทย์ การพัฒนากัญชง กัญชาที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล 

 

ซึ่งแนวทางการนำสมุนไพรมาใช้การฟื้นฟูประเทศหลัง covid-19 รัฐมีแผนชูสมุนไพรไทยเพื่อเป็นที่พึ่งพาของตนเองทางด้านสุขภาพของประเทศ และบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันโดยเร่งพัฒนางานวิจัยสร้างความเชื่อมั่น และผลักดันยาแพทย์แผนไทยสู่ชุดสิทธิประโยชน์และบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงสร้างความรู้ทางด้านสุขภาพผ่านเครือข่ายสุขภาพในระดับชุมชน ส่งเสริมป้องกันและฟื้นฟูด้วยการแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อลดภาระกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่

 

ความร่วมมือเพื่อประชาสัมพันธ์ผลศึกษาวิจัยการแปรรูปกัญชงและสมุนไพรไทยในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมและพัฒนากัญชงที่มีคุณภาพสู่มาตรฐานสากล และในอนาคตอาจเห็นความร่วมมือในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรร่วมกันเพื่อให้ศาสตร์และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง มีการนำไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

 

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกและกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกครั้งนี้เป็นการนำพืชเศรษฐกิจใหม่คือ “กัญชง” มาดำเนินธุรกิจในรูปแบบ BCG Model (ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน -เศรษฐกิจสีเขียว) โดยใช้กลไกด้านการตลาดและสื่อประชาสัมพันธ์เชิงรุกตามแพลตฟอร์มกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากสู่ตลาดการค้าโลก 

“โครงการศึกษาวิจัยแปรรูปกัญชง   และสมุนไพรไทย ในครั้งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษาและหาความรู้เกี่ยวกับ พืชกัญชง ได้  รวมถึงเกษตรกรที่สนใจอยากปลูกกัญชง แล้วต้องการนำองค์ความรู้ไปใช้ในการปลูกที่มีประสิทธิภาพ, ผู้ที่สนใจจะนำผลิตภัณฑ์กัญชงเพื่อส่งออก และผู้ประกอบการที่ต้องการนำองค์ความรู้ไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า และต่อยอดธุรกิจ เป็นต้น”  พลเอก รังษี กล่าว