เจาะลึก ‘ศิริราช’ บูรณาการองค์ความรู้ สู้ภัยโควิด

28 ส.ค. 2564 | 12:43 น.

ในยุคที่โควิด -19 แพร่ระบาดอย่างหนัก หนึ่งในชื่อของนายแพทย์ที่ได้ออกมาให้ข้อมูล และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย ก็คือ “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล

หากย้อนกลับ ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ แพทย์คือหนอนหนังสือที่เข้าใจแต่เรื่องวิชาการ ทว่าสำหรับ “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะตั้งแต่ปี 2558 ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ คุณหมอได้พัฒนาศิริราชให้มีความโดดเด่นในหลายเรื่องอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุด ยังทำให้ศิริราชคว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus: Operation) ประจำปี 2563 จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ด้วยวิสัยทัศน์ของนายแพทย์นักบริหารเต็มตัว
  เจาะลึก ‘ศิริราช’  บูรณาการองค์ความรู้ สู้ภัยโควิด

ในช่วงของการบริหารจัดการวัคซีนโควิด -19 ระยะแรกที่หลายโรงพยาบาลเกิดปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ มีการเลื่อนนัดฉีด แต่สำหรับศิริราช “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” มีวิธีบริหารจัดการที่ดี ทำให้สามารถให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง หรือหากย้อนไปถึงการรับมือต่อโรคร้ายครั้งนี้ ศิริราช ก็ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ที่มีความพร้อมและออกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
เป็นระยะ
 

ศิริราชมีการทำแผน BCM (Business Continuity Management) ซึ่งเป็นแผนงานเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น...เรามีการซ้อมแผนเป็นครั้งคราว จนเกิดโควิด -19 ตั้งแต่มกราคม 2563 ศิริราชติดตามสถานการณ์และข้อมูลจากจีน พร้อมประเมินสถานการณ์ และเห็นแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรง 

ขณะเดียวกัน ก็ประเมินความพร้อมทรัพยากรต่างๆ ที่จะมีการใช้หากเกิดการแพร่ระบาด การเตรียมรูปแบบการรับคนไข้ คนไข้มาทางไหน ไปทางไหน จะบริหารจัดการอย่างไร รวมทั้งแผนสำรองภาวะอุปกรณ์ขาดแคลน โดยมีการเปิดวอลล์รูม และประชุมติดตามต่อเนื่อง ตั้งแต่ 3 ก.พ. 2563 ทำให้ศิริราชรับมือได้ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ด้วยเครื่องมือที่ครบ ทั้งการสร้างหน้ากาก win-masks การทำจุดเจาะเลือดไดรฟ์ทรู ซักซ้อมทำเทเลเมดิซีน มีการนำเทคโนโลยี เอไอ การนำระบบ 5G เข้ามาใช้ สร้างแอป SivWORK สำหรับสื่อสารภายในศิริราช และ SIRIraj Connect  สำหรับสื่อสารกับประชาชน 
  เจาะลึก ‘ศิริราช’  บูรณาการองค์ความรู้ สู้ภัยโควิด

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาจากการเตรียมพร้อมด้วยแผนบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” เล่าว่า ศิริราชได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ ในปี 2563 ที่ยังมุ่งมั่นกับ 1. การเป็นสถาบันแพทย์ของแผ่นดิน  เพิ่มเติมด้วย 2. การขยายศักยภาพจากโลคัลไปสู่โกลบอล เพื่อนำประโยชน์ไปสู่มวลมนุษยชาติ และ 3. การเป็น “ผู้ให้” ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของชาวศิริราช และถือเป็น Core Value การทำเพื่อสังคมและเพื่อส่วนรวม โดยมีเป้าหมาย ปี 2567 ที่จะมุ่งสู่องค์กรที่เป็นเลิศ มุ่งสู่อนาคตด้วยผลงานที่เป็นเลิศ และเป้าหมายปี 2572 คือ การเป็นผู้นำและผู้ชี้นำ เพื่อ “สร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ”  

ที่สำคัญคือ ทุกเป้าหมายจะขับเคลื่อนด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1. “การปฏิรูปเพื่ออนาคต” ทั้งด้านการศึกษา การวิจัย การบริการทางการแพทย์ ซึ่งดำเนินการคู่ขนานกับการบูรณาการหลังบ้าน ทั้งเรื่อง Information System, Information Technology  การปฏิรูปการบริหารทรัพยากรบุคคล และปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 2. การ “บูรณาการ” ให้ทุกๆ หน่วยงานในศิริราชมีการทำงานแบบ Integrate คือ การทำงานร่วมกัน 3. “การสร้างพันธมิตร” ทั้งภายในและภายนอกประเทศ 4. “การบริหารจัดการบุคคล” พัฒนาคนเพื่อรองรับอนาคต และ 5. “การสร้างความยั่งยืน” ขับเคลื่อนเรื่องวัฒนธรรม หรือ Core Value ของศิริราช ในขณะที่การบริหารได้นำเรื่องของระบบ TQA เข้ามาเป็นไกด์ไลน์ 
 

“ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” เน้นย้ำว่า บุคลากร ถือเป็นฐานสำคัญในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืน และนำไปสู่ความเป็นเลิศ โดยผู้นำจะเป็นผู้กำหนดทิศทางและเป้าหมาย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายตัวเองเสมอ... เราหวังว่า การสร้างเป้าหมายที่ท้าทาย และเห็นแสงที่ปลายทาง จะเป็นตัวผลักดันให้ศิริราชวิ่งไปข้างหน้า สื่อสารออกไปสู่การปฎิบัติ ติดตามผล เก็บตัวชี้วัด ระหว่างทางจะมีการสร้างแรงจูงใจ สร้าง Engagement กับกลุ่มต่างๆ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงอยู่เสมอ
 

“เรื่องการบริหารคน ศิริราชเราหลีกเลี่ยงการบังคับ เราใช้วิธีการโน้มน้าวจูงใจ เพราะเราเชื่อว่า การที่เขาเต็มใจทำ จะให้เอาท์คัมที่ดีกว่า การถูกบังคับให้ทำ หรือทำเพราะกฎระเบียบ...การทำเพราะเขาอยากทำ เมื่อมีเอาท์คัมที่ดี มันเป็นการให้รางวัลตัวเอง และจะนำไปสู่ความยั่งยืน”

เจาะลึก ‘ศิริราช’  บูรณาการองค์ความรู้ สู้ภัยโควิด
 หลักคิดและแนวทางบริหารจัดการที่เล่ามา เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของแผนดำเนินงานศิริราชที่ผู้นำท่านนี้กำลังขับเคลื่อน ศิริราชยังมีความโดดเด่นเรื่องของงานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้ง Antigen Rapid Test การวิจัยวัคซีน การวิจัยภูมิคุ้มที่เกิดจากการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ และยังมีอีกมากมายงานวิจัย
 

“ศิริราช” กำลังเดินหน้าในอีกหลายๆ เรื่อง ตามวิสัยของผู้นำ เพื่อนำ “ศิริราช” ไปสู่ “สถาบันแพทย์ของแผ่นดิน” อย่างชัดเจนมากขึ้น คู่ขนานไปกับการนำเสนอผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ที่ไม่ได้ตำกัดอยู่แค่คนไทย และหมายถึงทั่วโลก ที่สามารถได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของสถาบันแพทย์แห่งนี้


หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,708 วันที่ 26 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564