ซีอีโอ7สายการบินสุดทนรวมตัวทวงซอฟต์โลนจี้รัฐเยียวยาหลังถูกสั่งห้ามบิน

20 ก.ค. 2564 | 16:47 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2564 | 04:03 น.
513

ซีอีโอ 7 สายการบินทนไม่ไหวแล้วจี้รัฐเยียวยาด่วนขอทวงถามซอฟต์โลน 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน ที่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ แถมถูกสั่งห้ามบินกระทบสภาพคล่องหนัก

จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อธุรกิจสายการบิน ที่ต่อเนื่องมาจากปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สมาคมสายการบินประเทศไทย ที่ประกอบไปด้วย 7 สายการบิน จึงรวมตัวกันยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อสายการบิน ในฐานะด่านหน้าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 

โดยติดตามผลมาตลอด และยังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยเฉพาะการขอซอฟท์โลน 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานสายการบิน

 

ทั้งนี้ สมาคมสายการบินประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมแถลงข่าวออนไลน์ โดยมี ซีอีโอ 7 สายการบิน เพื่อขอให้รัฐเร่งเยียวยา ประกอบไปด้วย

 

  • พุฒิพงศ์  ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในฐานะ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย
  • ชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์
  • อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์
  • วรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท
  • นัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์
  • สันติสุข คล่องใช้ยา   ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย
  • วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  สายการบินนกแอร์

 

 

 

ทั้งนี้จากประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)ฉบับที่ 3  แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินในเส้นทางบินภายในประเทศ  ที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 21 กรกฏาคมนี้ มีข้อสรุปได้ดังนี้

   

1. ประกาศฉบับนี้ ใช้บังคับสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ที่ให้บริการผู้โดยสารเท่านั้น

 

2.ห้ามบินรับส่งผู้โดยสารเข้า/ออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง)

 

3. มาตรการนี้ได้ยกเว้นเที่ยวบินดังต่อไปนี้

  •  เที่ยวบินที่นำร่องในการเปิดประเทศ ( Sandbox)
  • เที่ยวบินที่ขอลงฉุกเฉิน และไม่มีผู้โดยสารลงจากเครื่องเที่ยวบินที่ให้บริการทางการแพทย์ เพื่อการรับวัคซีน         

 

 4. สำหรับสนามบินที่สามารถให้บริการได้ (บินข้ามภูมิภาค)​ให้มีจำนวนผู้โดยสารได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของความจุอากาศยานเที่ยวบินนั้น

 

ปัจจุบันสายการบินที่ทำการบินภายในประเทศ มีจำนวน 6 สาย ดังนี้

 

  • ไทยเวียตเจ็ท ยกเลิกทำการบินทั้งหมด คงเหลือเฉพาะ Cargo Flight
  • บางกอกแอร์เวย์ส  ยกเลิกทำการบินทั้งหมด คงเหลือเฉพาะเส้นทางบินสมุย (เฉพาะรองรับผู้โดยสารต่างชาติต่อเครื่องบินจากกรุงเทพฯมายังสมุย และเส้นทางภูเก็ต-สมุย
  • ไทยแอร์เอเชีย ได้ทำการยกเลิกเที่ยวบินอยู่ก่อนแล้วถึงสิ้นเดือนก.ค.นี้
  • ไทยสมายล์ ยกเลิกเส้นทางบินในประเทศ
  • ไทยไลอ้อนแอร์ ยกเลิกบินในประเทศ
  • นกแอร์ ยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด