จับตา 4 เทรนด์ใหม่ ‘ท่องเที่ยวไทย’  หวังรายได้ 1.2 ล้านล้าน 

14 มิ.ย. 2563 | 12:48 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2563 | 13:36 น.
14.9 k

จับตา 4 เทรนด์ใหม่ ‘ท่องเที่ยวไทย’ หวังรายได้ 1.2 ล้านล้าน 

ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ การท่องเที่ยวของไทย ติดหล่มไวรัสโควิด-19 ตกต่ำถึงขีดสุด ฉุดต่างชาติเที่ยวไทยเหลือ 0 คน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับจากเดือนเม.ย.ต่อเนื่องถึงสิ้นมิ.ย.นี้

แต่หลังจากนี้จะยังคงเป็น 0 คน ต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะปลดล็อกการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าไทย ซึ่งตามประกาศดังกล่าวของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สิ้นสุดในเดือนมิ.ย.นี้ หรือจะขยายเวลาออกไปอีก

เปิด 3 ซีนาริโอ ท่องเที่ยวปี 63      

แม้วันนี้รัฐบาลไทยและหลายประเทศ อยู่ระหว่างคลายล็อกดาวน์ ทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆเพิ่มขึ้น และเริ่มเปิดการท่องเที่ยว แต่จุดโฟกัส ของทุกประเทศ คือ กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่จะหวังผลได้มากกว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในระยะสั้น เพราะแม้ประเทศต่างๆจะทยอยเปิดการท่องเที่ยวแล้ว แต่ก็ไม่ได้เปิดกว้างเหมือนในอดีต

จับตา 4 เทรนด์ใหม่ ‘ท่องเที่ยวไทย’   หวังรายได้ 1.2 ล้านล้าน 

แต่จะเป็นการเปิดการท่องเที่ยวในลักษณะ “ทราเวล บับเบิ้ล” ( Travel Bubble)  การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในยุคโควิด-19 ซึ่งเป็นการเจรจากันของประเทศ ที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ เพื่อจับคู่กลุ่มประเทศเปิดให้เดินทางระหว่างกันได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว (State Quarantine) 14 วัน แต่ต้องมีหนังสือรับรองการตรวจว่าไม่ได้เป็นโควิด-19 

การฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทย ก็เดินไปในแนวทางนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแผนปั้มไทยเที่ยวไทยในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ผ่าน “แพ็กเกจกำลังใจ” ให้อสม.และรพ.สต.1.2 ล้านคนเที่ยวฟรี และ “เที่ยวปันสุข” แจกบัตรกำนัลดิจิทัล

 โดยรัฐจ่ายค่าที่พักให้40%  สูงสุดไม่เกิน 3 พันบาทต่อคืน ให้คนไทยไปเที่ยว  สอดรับการเปิดให้เริ่มการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดกันได้แล้ว

รวมถึงมองเรื่องทราเวล บับเบิ้ลไว้บ้างแล้วเช่นกัน เช่น การจับคู่กับจีน ที่คาดว่าจะเริ่มให้ได้ในราวปลายปีนี้

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ภาพรวมของการท่องเที่ยวไทยตลอดทั้งปี 2563 จึงมีแนวโน้มติดลบไม่ต่ำกว่า 50%  หลังจากสถิติการท่องเที่ยวในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ารายได้หายไปเกินครึ่ง  การเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย และการเจรจาให้เกิดทราเวล บับเบิ้ล จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

ภายใต้เป้าหมายการผลักดันรายได้การท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ ให้อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่ไทยมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.01 ล้านล้านบาท ซึ่งแนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ กระทรวงการท่องเที่ยววางไว้ 3 ซีนาริโอที่จะเกิดขึ้น 

โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย อยู่ที่ 14-16 ล้านคน สร้างรายได้อยู่ที่ 6.4-7.4 แสนล้านบาท และ ไทยเที่ยวไทย จะอยู่ที่ 80-100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 4.8-6.1 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จากการเดินทางเที่ยวในประเทศ จะเพิ่มเป็น 40-47% จากช่วงสถานการณ์ปกติซึ่งอยู่ที่ราว 36%

 

รูปแบบใหม่ ท่องเที่ยวยุคโควิด

การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเท่านั้น ยังทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในยุคโควิดอีกด้วย โดยเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนใน 4  เทรนด์ ได้แก่

1. Travel Bubble ที่ปัจจุบันมีการจับกลุ่มกันแล้วในหลายทวีป โดยกลุ่มแรกที่ทำทราเวล บับเบิ้ล คือ กลุ่มประเทศแถบทะเลบอลติก ในยุโรปตะวันออก คือ  ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย ขณะที่สิงคโปร์ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ ที่จับคู่ระหว่างสิงคโปร์กับบางมณฑลของในจีน คือ เซี่ยงไฮ้, กวางตุ้ง, เจ้อเจียง, เทียนจิน, เจียงซู และฉงชิ่ง ที่เพิ่งเริ่มให้มีการเดินทางระหว่างกันได้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นต้น

2. Hygiene & Healthy Badge ซึ่งจะเป็นการสร้างความปลอดภัยด้านสุขอนามัยในการบริการของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว การออกมาตรฐาน SHA ของไทย รวมถึงการให้บริการของโรงแรมที่เน้นการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โดยใช้มาตรเดียวกับที่โรงพยาบาลใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าไร้ไวรัส

 3. Robot & Reconciliation Service ซึ่งจะเห็นว่าธุรกิจจะหันมาใช้เทคโนโลยี เพื่อลดการสัมผัสและรักษาระยะห่างในการให้บริการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้แอพไทยชนะในการเช็กอินเช็กเอาต์ในจุดบริการต่างๆ การนำระบบ Passenger Reconciliation System (PRS) มาใช้การเช็กอิน สแกนพาสปอร์ต สแกนตั๋วเครื่องบินของแอร์เอเชีย เพื่อลดการสัมผัส การนำหุ่นยนต์มาเสิร์ฟอาหารในประเทศเกาหลี  การใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาด เป็นต้น

4. Premium Tourism โดยหลังโควิด  คนจะต้องการทัวร์คุณภาพ และการบริการระดับพรีเมียมมากกว่า Mass Tourism เพราะคนกังวลเรื่องสุขอนามัย  การเดินทางท่องเที่ยวในระยะแรกจะเป็นการเดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง หรือเอฟไอทีแพ็กเกจ มากกว่ากรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่

         ทั้ง 4 เทรนด์จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ท่องเที่ยวในยุคโควิด ที่ตราบใดที่วัคซีน ยังไม่สำเร็จผล การฟื้นฟูธุรกิจไปพร้อมๆกับการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส จึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินควบคู่กับไปภายใต้แนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่ที่เกิดขึ้นนั่นเอง 

รายงาน : ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,583 วันที่ 14 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563