แก้กุ้งล้นตลาด ใช้โมเดลปี55 ชดเชยส่วนต่างราคา

14 เม.ย. 2563 | 15:15 น.
3.8 k

สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งฯ ค้านหัวชนฝา รัฐเปิดจำนำกุ้งแก้ราคาตกต่ำ หวั่นเปิดช่องโหว่ทุจริตทุกขั้นตอน โอดโควิดทุบตลาดในประเทศและส่งออกทรุดหนัก เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งได้เฮรัฐใช้โมเดลปี 55 ชดเชยส่วนต่าง เลียนประกันรายได้ ก.เกษตรเตรียมชง ครม.21 เม.ย.

ผลกระทบจากไวรัสโคโรนา(โควิด-19) ทั่วโลกรวมทั้งไทย สายการบินหยุดบิน นักท่องเที่ยววูบหาย โรงแรมและร้านอาหารปิด ส่งผลให้เศรษฐกิจ การค้าโลกสะดุด ภาคเกษตรมีผลผลิตแล้วไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้ส่งผลราคาตกต่ำ ซึ่งในส่วนของสินค้ากุ้งทางคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย (9 เม.ย.63) โดยกรมประมงได้มีแนวทางให้การแก้ปัญหาเร่งด่วนคือ การดูดซับปริมาณผลผลิตลูกกุ้งและกุ้งเนื้อ และก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีการ “จำนำกุ้ง” โดยผลผลิตกุ้งส่วนที่เกษตรเป็นเจ้าของ นำฝากห้องเย็นไว้ ค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บในห้องเย็นระยะเวลา 3 เดือน โดยรัฐช่วยจ่าย 80%  หากราคากุ้งดีขึ้นเกษตรกรก็สามารถมาไถ่ถอนได้นั้น 

นายพจน์ อร่ามวัฒนา-นนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้มาตรการใด แต่ไม่สนับสนุนให้ใช้วิธี “จำนำ” อย่างแน่นอน เพราะวิธีการนี้มีช่องโหว่ก่อให้เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน ค่าใช้จ่ายงบบานปลาย และถ้าใช้วิธีจำนำ เกษตรกรไม่มีวันมาไถ่ถอนส่วนใหญ่จะทิ้งเลยมากกว่า ดังนั้นทางออกน่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้ที่จะทำให้ภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร อยู่ร่วมกันได้ ควบคู่กับเกษตรกรจะต้องลดต้นทุน อาทิ ค่าอาหาร ค่าพันธุ์สัตว์ เป็นต้น 

“ตลาดวันนี้ผู้ส่งออกย่ำแย่ ขายไม่ได้ ออร์เดอร์ไม่มีหรือลดน้อยมาตั้งนานแล้ว พอมาเจอผล
กระทบโรคระบาดสถานการณ์ยิ่งหนักเข้าไปอีก คาดว่าจะย่ำแย่กว่าปีที่ 2562 ที่ไทยส่งออกกุ้งได้ ได้ 1.67แสนตัน มูลค่า 4.89 หมื่นล้านบาท ลดลง -6% และ -13% ตามลำดับเมื่อเทียบกับปีก่อน(ขณะที่ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ส่งออกได้  2.07 หมื่นตัน มูลค่า 5,243 ล้านบาท ติดลบ -5.8% และ-22% ตามลำดับ)”

แหล่งข่าวคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย เผยว่า เวลานี้ผลผลิตกุ้งค้างบ่อและล้นตลาดจากส่งออกไม่ได้ ร้านอาหารและโรงแรมในประเทศก็ปิดจากไม่มีนักท่องเที่ยว มี 3 ชนิดกุ้งที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งกุลาดำ และกุ้งก้ามกราม รวมปริมาณ 5.4 หมื่นตัน (กราฟิกประกอบ) ทางกรมประมงได้สรุปผลสำรวจล่าสุด ผลผลิตกุ้งที่คาดจะออกสู่ตลาด (ข้อมูล ณ 31 มี.ค.63) ในช่วง 3 เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563  มีจำนวน 1.5 หมื่นตัน ในจำนวนดังกล่าวจะต้องมีแนวทางการดูดซับปริมาณผลผลิตกุ้งเนื้อค้างบ่อ

ทั้งนี้มาตรการที่ออกมายังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่มีข้อเสนอแนวทางการช่วยเหลือ อาทิ 1. ซื้อกุ้งค้างบ่อจากเกษตรกรและฝากห้องเย็นในพื้นที่จังหวัดต่างๆ  2. ซื้อผลผลิตบางส่วนจากเกษตรกรแล้วนำไปแลกสินค้ากับสินค้าอื่นกับต่างประเทศ เป็นต้น ควบคู่กับแนวทางลดราคาลูกกุ้ง ลดราคาอาหารสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิตหรือเก็บเงินค่าลูกกุ้งหลังจับกุ้งขายแล้ว 

แก้กุ้งล้นตลาด ใช้โมเดลปี55 ชดเชยส่วนต่างราคา

นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เผยว่า ก่อนหน้านี้ทางเครือข่ายได้มีการพูดคุยนอกรอบกับกรมประมงและสมาคม (สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมผู้ค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย ) อย่างไม่เป็นทางการว่าจะใช้โมเดลโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไม โดยระบบตลาดเครือข่ายแบบกุ้งปี 2555 แก้ปัญหา วิน-วิน จะคล้ายกับประกันรายได้กับพืช 5 หลักเศรษฐกิจ (ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา,ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ของรัฐบาลปัจจุบัน 

“ยกตัวอย่าง กุ้งขนาด 40 ตัวต่อกิโลกรัม (กก.) จะจ่ายส่วนต่างราคาห้องเย็นรับซื้อ และราคาเป้าหมายนำตลาด โดยผ่านคณะทำงานระดับจังหวัดสั่งจ่ายผ่าน ธ.ก.ส.ซึ่งวีธีนี้จะแก้ปัญหาด้านราคาและลดขั้นตอนการกระจายสินค้าที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง แต่ละขั้นตอนในการส่งมอบกุ้งกับห้องเย็นที่ได้จับคู่กัน
ไว้แล้ว”

ทั้งนี้ จะใช้วิธีใดเกษตรกรยอมรับได้หมด ขอให้ขายได้ มีตลาดรองรับและไม่ขาดทุน จากก่อนหน้านี้ได้เสนอโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ผ่านกระทรวงพาณิชย์ให้ชดเชยส่วนต่างตามขนาดกุ้ง อาทิ กุ้งขนาด 40 ตัวต่อกก. ราคา 220 บาท, กุ้งขนาด 30 ตัวต่อกก. ราคา 240 บาท ก็ผิดหวังเพราะปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบเลย

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย (9 เม.ย. 63) ตกลงที่จะใช้โมเดลปี 2555 ในการรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง ซึ่งจะได้นำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรฯพิจารณา ก่อนจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาในวันที่ 21 เมษายน 2563 ต่อไป 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12 - 15 เมษายน พ.ศ. 2563