‘สกู๊ต’เปิดโมเดล ควบรวม‘ไทเกอร์แอร์’ชิงแต้มต่อโลว์คอสต์

02 ส.ค. 2560 | 13:41 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2560 | 17:43 น.
“สกู๊ต” จัดว่าเป็นสายการบินต้นทุนตํ่า สัญชาติสิงคโปร์ ที่มีการขยายตัวทางธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะเพียง 5 ปี นับจากเดือนมิถุนายนปี 2555 ที่สกู๊ต เริ่มต้นธุรกิจโลว์คอสต์ลองฮอล ด้วยการปักธงรูตบินระยะกลางถึงระยะไกล ในเส้นทางบินจากสิงคโปร์สู่ซิดนีย์ ตามมาด้วยการขยายเน็ตเวิร์กไปสู่อีกหลายเมือง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 “สกู๊ต” ซึ่งสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ถือหุ้น 100% ยังได้ควบรวมแบรนด์ “ไทเกอร์ แอร์” สายการบินต้นทุนตํ่าระยะใกล้สัญชาติเดียวกัน ที่เดิมก่อนหน้านี้สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง เข้ามาเป็นแบรนด์เดียวกัน และใช้ใบอนุญาตผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate)

ถือเป็นการสิ้นสุดกระ บวนการควบรวมกิจการ ที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 หลังจากทั้ง 2 สายการบิน ได้เข้า ไปอยู่ภายใต้ผู้ถือหุ้นเดียวกัน คือ Budget Aviation Holdings ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส กรุ๊ป (SIA) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2559 ซึ่งจะเป็นเจ้าของและบริหารสายการบินต้นทุนตํ่าของ SIA ตามแผนการปรับโครง สร้างใหม่ของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส

++ฝูงบิน2เท่าใน 5 ปี
การรวมแบรนด์เป็นสกู๊ตแบรนด์เดียว ยังทำให้สกู๊ตมีฝูงบินเพิ่มเป็น 37 ลำ โดยเป็นเครื่องบินโบอิ้ง787 ดรีมไลเนอร์ จำนวน 14 ลำของสกู๊ต และแอร์บัสเอ 320 จำนวน 23 ลำ ของไทเกอร์ แอร์ เดิม รวมถึงอยู่ระหว่างการสั่งซื้ออีก 45 ลำ ได้แก่โบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ 6 ลำและแอร์บัส 320 นีโอ อีก 39 ลำ นั่นหมายถึงในอีก 5 ปี สกู๊ต จะมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

[caption id="attachment_186358" align="aligncenter" width="486"] ลี ลิก ซิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินสกู๊ต ลี ลิก ซิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินสกู๊ต[/caption]

“การควบรวมแบรนด์ที่เกิดขึ้น จะช่วยเพิ่มพูนความแข็งแกร่งของเรายิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้โดยสารจะได้รับประโยชน์จากตัวเลือกในการเดินทาง การเชื่อมต่อ ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเรายังได้เปลี่ยนแบรนด์แท็กไลน์จาก “Get Outta Here!” มาเป็น “Escape the Ordinary” ซึ่งมีความหมายว่า หลีกหนีจากความธรรมดา ทั้งนี้แท็กไลน์ใหม่ของสกู๊ต สะท้อนให้เห็นการเติบโตของเราในฐานะแบรนด์ของสายการบินซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของเครือข่ายของเราในตลาดโลก” นายลี ลิก ซิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินสกู๊ต กล่าว

ซีอีโอสกู๊ต ยังกล่าวต่อว่า จีนเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายโดยรวมของเรา และจะเป็นต่อไป ทั้งการเพิ่มความถี่ และเดสติเนชันใหม่ๆ เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ แม้จะมีหลายจุดที่เราบินไปแล้ว แต่ยังสามารถเพิ่มได้อีกมาก ในแง่ของการรับรู้ของแบรนด์ ขึ้นกับว่าเป็นภูมิภาคไหนของจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ไทเกอร์แอร์อาจจะเป็นที่รู้จักมากกว่าทางจีนตอนใต้ แต่จีนตอนเหนือสกู๊ตมีความแข็งแกร่ง

อีกทั้งการรวมฝูงบินที่เกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดการผสมผสานการใช้เครื่องบิน ซึ่งสัดส่วนจากนี้จะเอนเอียงไปทางเครื่องบินลำตัวแคบ (แอร์บัสเอ320) ที่ไทเกอร์ แอร์ เคยใช้ทำการบิน จะมีมากในฝูงบินของสกู๊ต อย่างไรก็ตามแม้สกู๊ต จะเติบโตได้ดีมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่เริ่มมีความท้าทายในเรื่องตลาดที่ให้บริการ และเครื่องบินที่ใช้งานอยู่ จึงมีความสมเหตุสมผลที่สายการบินทั้ง 2 สายจะรวมตัวกัน

++เพิ่มจุดบินรวม65เดสติเนชัน
นอกจากนี้ล่าสุดสกู๊ตยังมีแผนจะเปิดจุดบินใหม่อีก 5 เส้นทางที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยในช่วงสิ้นปีนี้จะเปิดบินเส้นทางสิงคโปร์สู่ โฮโนลูลู รัฐฮาวาย (ต่อเครื่องบินที่โอซากา ญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นเส้นทางแรกของสายการบินไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เส้นทางสิงคโปร์-ฮาร์บิน ประเทศจีน โดยจัดว่าเป็นเส้นทางบินระยะไกล ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ ส่วนอีก 3 เส้นทางบินระยะสั้น ที่บินด้วยแอร์บัสเอ 320 คือเส้นทาง สิงคโปร์- กูชิง ประเทศมาเลเซีย ช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เส้นทางสิงคโปร์-กวนตัน ประเทศมาเลเซีย ไตรมาสแรกปีหน้า และเส้นทางสิงคโปร์-ปาเล็มบัง ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนพฤศจิกายนนี้

MP26-3283-A ขณะที่นายเลสลี่ เติ้ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ สายการบินสกู๊ต กล่าวว่าหนึ่งในเป้าหมายของการควบรวม 2 สายการบิน คือเพิ่มโอกาสในการขายจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามายังสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้เราจึงตัดสินใจเปิด 2 เดสติเนชันใหม่ในมาเลเซียและ 1 เดสติเนชันใหม่ในอินโดนีเซีย ส่วนการเปิดเส้นทางลองฮอลสู่โฮโนลูลู ในเส้นทางสิงคโปร์-โอซากา-โฮโนลูลู เราสามารถรับผู้โดยสารที่บินจากที่อื่น เช่น ไต้หวัน หรือไทย มาโอซากา จัดเวลาเที่ยวบินให้สามารถบินต่อไปยังโฮโนลูลูได้ด้วย เรามองตลาดโดยรวมที่เราสามารถให้บริการได้ ไม่ใช่เพียงแค่จากสิงคโปร์หรือโอซากา เท่านั้น การเปิดจุดบินใหม่เหล่านี้ตั้งเป้าว่าจะมีปริมาณที่ผลิต ด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 15%

ประโยชน์ของการรวมสายการบิน คือ เรื่องของเครือข่าย ทำให้เรามีเครือข่ายมากกว่า 60 เดสติเนชันในปัจจุบัน และการเปิดจุดบินใหม่อีก 5 เส้นทาง จะทำให้สกู๊ต เพิ่มบริการเป็น 65 เส้นทาง ใน 18 ประเทศ และในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เราเริ่มมีการขายตั๋วร่วม การมี 2 สายการบิน 2 ระบบขายตั๋ว มันไม่สะดวกสำหรับผู้เดินทางเวลาซื้อตั๋ว การรวมเป็นสายการบินเดียวจะทำให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วได้สะดวกยิ่งขึ้น ผ่านเว็บไซต์เดียว โมบายแอพพลิเคชันเดียว ทำการตลาดผ่านแบรนด์เดียว

[caption id="attachment_186357" align="aligncenter" width="486"] เลสลี่ เติ้ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ สายการบินสกู๊ต เลสลี่ เติ้ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ สายการบินสกู๊ต[/caption]

นอกจากนี้การรวมกันของเครือข่ายจะทำให้เรารุกตลาดลองฮอลได้มากขึ้น และหลังจากรวมกันแล้วเชื่อว่าเราจะทำหลายๆ อย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น เป้าหมายของเราไม่ได้เพียงแค่ขายในสิงคโปร์ เรามองการเพิ่มเดสติเนชันให้กับเครือข่ายของเราได้ด้วย

++รอนกสกู๊ตบินญี่ปุ่น-เกาหลี
ทั้งนี้หลังการควบรวมกิจการ จะเห็นว่าเครือข่ายของสกู๊ตในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และจีนตอนใต้ ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ในเครือข่ายโดยรวมในแง่ของ capacity สำหรับเที่ยวบินเข้าไทย เรามีบินสู่กรุงเทพ, ภูเก็ต ตลาดไทยเรารุกหนักในการเพิ่ม capacity เนื่องจากไทยเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชีย นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย สิงคโปร์ ยุโรป เรามองโอกาสการเพิ่มเดสติเนชันในไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสำหรับผู้โดยสารของเราจากทั่วโลก

ขณะที่นกสกู๊ต ซึ่งเป็นสายการบินในไทยที่สกู๊ตถือหุ้น 49% ต้องยอมรับว่านกสกู๊ตมีข้อจำกัดในการบินไปญี่ปุ่นและเกาหลี เนื่องจากไทยติดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งพวกเขากำลังแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถบินไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ในเร็วนี้ๆ เวลานี้นกสกู๊ตบินไปแค่จีนและไต้หวัน ไม่มีเส้นทางบินมาสิงคโปร์
สำหรับผลประกอบการของสกู๊ต ในปีงบประมาณที่ผ่านมาที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2560 สกู๊ตน่าจะให้บริการผู้โดยสารมากกว่า 8 ล้านคน ตั้งเป้าเพิ่ม capacity 15% และหวังว่าจะให้บริการผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283
วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560