ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 11

18 ก.พ. 2566 | 06:06 น.

ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 11 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย... ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3863

○ ไตเติ้ลหนนี้ภูมิใจเสนอข่าวเก่าระดับประวัติศาสตร์ สมัยเด็กเล่นหมากเก็บ เป็น 3 กรณี ที่ได้ อนุสติ!  

○ มวลชนคนอินเดียนแดงคงจะชอบใจไชโยตามหลังท่าน โอทิส ไวท์ เจ้าของ บก. นสพ. รายสัปดาห์ Green River Republican รัฐเคนทักกี เมื่อเขากล้าประกาศในปี 1946 ว่า “มนุษย์จะไม่บินไปดวงจันทร์ หรือ บุกรุกดาวเคราะห์อื่นใด" น่าเห็นใจอินเดียนแดง ในที่สุด ดาว ก็โดนแต๊ะอั๋งจนได้ (ฮา) 

○ ผู้ให้ข่าวไม่ชี้ชัดว่า คือ “เจ้าชายนักดนตรี” เป็นใคร ผมเช็คดูแล้วมีผู้ได้รับฉายานี้หลายท่าน ดังนั้น “เจ้าชายนักพูด” (ฮา) จึงลอยตามน้ำไหลตามหัวข้อข่าวเก๋ากึ๊กว่า เจ้าชายนักดนตรี ท่านให้ความเห็นไว้เมื่อ 5 ก.ค. 2010 ว่า อินเตอร์เน็ต เหมือนกับ MTV ที่เคยวูบ เขาจึงชี้ว่า “อินเทอร์เน็ตหมดสิ้นแล้ว” MTV คือ Music Television แฟนคลับเป็นวัยรุ่น แต่เดิมเริ่มชิมลางด้วยการเปิดมิวสิกวีดีโอ ต่อมาสรรสร้างเรียลลิตี้โชว์เยอะมาก ตามมาด้วยงานอวอร์ดหลากแบบ ในที่สุดก็ได้เป็น Pop Culture 

ผู้สื่อข่าววอชิงตันของ Chicago Times ตั้งข้อสังเกตว่า “คนอเมริกันจะไม่มีวันที่จะเลือกประธานาธิบดีนิโกร!” ชอบฟันธงกันดีนัก ไม่ได้ระวังกันบ้างเลยว่า ธงมันจะหล่นใส่หัว ด้วยความอยากจะรู้ว่า นิโกร แปลว่า “ทาส” รึไง ค้นได้คำตอบว่า นิโกร (Negro) เป็น ภาษา สเปน โปรตุเกส รวมทั้ง ละติน ก็นิยามตรงกันว่า หมายถึง “สีดำ” บรรดานานากูรูก็มโนกันว่า รากศัพท์คงจะมาจาก อินโด - ยูโรเปียนดั้งเดิม Nekw หรือ Nokw คือ “To be Dark” แปลตามอัธยาศัยว่าเป็น “กลางคืน” ก็ไม่ถือว่าผิด อย่างไรก็ตาม ใครทักเราว่าเป็น “นิโกร” เราจะชอบมากกว่าที่จะทักเราว่า “สวัสดีคนกลางคืน!” (ฮา) 

○ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โปรดเก็บหัวฝากไว้กับคอ อย่าเอาหัวไปประกันเด็ดขาด ลูกศิษย์หลายคนถามผมหลายหนแล้วว่า “ใครจะได้เป็นนายก?” ผมทำได้อย่างเดียวคือ ยิ้มแบบไม่มีซาวด์แทร็ค ผู้ที่ซิ่งอวดผาดโผนตรงหัวเลี้ยวส่วนใหญ่มักจะซี้เลี้ยว สนามการเมืองคล้ายกับสนามม้า “ใช่หรือไม่ใช่เปลี่ยนผันได้ทุกห้านาที!” 

○ บ้านเมืองขนาดย่อม อย่าง รวันดา สังคมแทบล่มสลายภายใต้สงครามของคนสีผิวเดียวกัน เคยเข้าห้อง เรียนห้องเดียวกัน เคยนั่งกินข้าวโต๊ะเดียวกัน ชาติเดียวกัน วันร้ายคืนเลวก็ยกปืนขึ้นมาประทับยิงไม่นับใส่กัน แต่ในทศวรรษนี้ รวันดา เศรษฐกิจเติบโตสุดลิ่มยิ้มฟันขาวกันทั้งแอฟริกา

ถ้า รวันดา คือ โรงลิเก ฉากชาวบ้านร้านช่องยังซอมซ่อเหมือนกับเพิ่งจะเลิกทำสงคราม แต่เขามี รถเมล์ที่ใช้สมาร์ทการ์ด แอพพลิเคชั่นนานาแบบ เพราะว่า รวันดา เปิดเสรีด้าน  IT สร้างเครือข่ายระบบใยแก้วนำแสง หรือ ไฟเบอร์ออปติกทุกซอกทุกมุมเมือง มีอินเตอร์เน็ตเร็วที่สุดกว่าใครในทวีป กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการสตาร์ทอัพของทวีปแอฟริกา เรื่องราวเหล่านี้ PPTV เขารายงานมาให้ผู้สนใจได้ติดตามชม 

○ ผู้ที่พยายามจะฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้  “กลยุทธ์ลูกศรสามดอก!” ได้แก่ การผ่อนคลายทางการเงิน การกระตุ้นทางการคลัง และ กลยุทธ์การเติบโต คือ ชินโซ อาเบะ ยังห่วงกันอยู่ว่า ในเมื่อต้นคิดไม่มีทางฟื้น แล้วนโยบายนี้มันจะฟูหรือเปล่า การแบ่งขั้วทางสังคม การลดจำนวนประชากร ประชากรสูงอายุล้นบัญชี กับ ข้อจำกัดเกี่ยวกับพลังงาน และ สิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาภายในประเทศที่ต้องรีบแก้

นโยบายที่จะปฏิรูปให้มนุษย์กลายเป็นศูนย์กลางของสังคม เคียงข้างกับ AI และ Robot เป็นเรื่องระดับโลก ถ้าหากทุกประเทศเกิดลัทธิเอาอย่างรุมกันลอยแพลูกจ้าง วันลอยกระทงมันจะโกลาหล แพมันลอยขวางทางกระทงก็หมดสนุก (ฮา)  

                          ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 11

○ วงการนักลงทุนลุ้นกันว่า 5.0 มีแนวโน้มสืบทอด การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 แต่ก็แอบแปลกใจกันว่า ทำไม ญี่ปุ่น ชักธง 5.0 เร็วกว่าที่คิด ดอกนี้ผมขอรับบทเป็น มดตามรอยกลิ่นน้ำตาล เล็งสาระในหัวข้อที่ชี้ว่า สังคม 5.0 จัดแจงแต่งหัวใจให้เอาชุดมนุษย์มาสวมใส่ เพราะปาร์ตี้หนนี้เชิญมนุษย์มาเป็นจุดศูนย์กลาง แสดงว่า มุ่งหวังจะสร้างความสมดุล ระหว่าง ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจด้วยอภิมหาเทคโนโลยี

ผสมผสานกับ การแก้ปัญหาสังคมด้วยการเชิดชูว่าทุกผู้ต้องเป็นมนุษย์ จะชุบมือเปิบว่านั่นคือหลักคิด “เราไม่ทิ้งกัน” ก็ไม่มีอะไรจะอาย มันใช่เสียยิ่งกว่าใช่ การปักหมุดตรงจุดมุ่งครั้งนี้เป็นวิสัยทัศน์ใหม่สำหรับสังคมที่หลักแหลมกว่าเดิม 

○ สังคมโลกเพ้อเรื่อง “วิน : วิน” กันมานานแล้ว ครั้นเมื่อเจอวิกฤติจิตก็ซัดส่าย คือ รู้สึกไม่สงบขบคิด จนฟุ้งซ่านว่าจะเอาไง ระหว่าง  “เอาตัวรอด” กับ “เอาคนรอด” อย่าให้ไวรัส “วิน : วิ่น” กัดใจขาดวิ่น นึกถึงความเป็นมาก่อนจะรวยดูว่า เขาทำให้เรามีกำไรเราจึงมีเงินให้เขา เราก็มีเงินให้เขาจึงมีแรงเข้ามาช่วยเรา

ผมขอสารภาพกับท่านเจ้าสัวว่า มีอยู่เพียงคำถามเดียวที่ผมไม่กล้าถามเจ้าสัว คำถามที่ว่านั้น คือ ที่เจ้าสัวไปเอา AI กับ Robot มาฟูมฟัก ไม่ทราบว่า AI กับ Robot เขาเคย ขอบคุณ และ ขอโทษ ท่านบ้างไหม ผมเกรงท่านเจ้าสัวจะย้อนถามผมว่า “คุณคิดว่า พนักงานเขาเคย ขอบคุณ และ ขอโทษ ผมบ้างไหม” (ฮา)