ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 6

14 ม.ค. 2566 | 06:30 น.

ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 6 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3853

 

วันนี้ ขอเสนอวาทกรรมที่ว่า “ข่าวสะเทือนก้น!” ไม่ใช่ก้นเดียวด้วยนะ ก้นแรก คือ ก้นของเจ้าของกิจการที่ร้อนจนนั่งไม่ติด ก้นต่อมาก็จะเป็นก้นบึ้งในหัวใจของใครต่อใครซึ่งมีเอี่ยวกับกิจการที่มีข่าวกระจายว่า ธุรกิจของหมู่เฮาทะลึ่งติดอันดับหนึ่งในสิบของ “ธุรกิจดาวร่วง” ปี 2566 ท่านประธานบริษัท ควรจะรีบส่ง ผู้จัดการ 4 ฝ่าย คือ การตลาด การขาย การผลิต การเงิน ไปเข้าพิธีบังสุกุลเป็น แก้เคล็ดกันเอาไว้ก่อน (ฮา)

เคสนี้มีอีกหนึ่งก้นที่นั่งแล้วรู้สึกว่าเก้าอี้ไม่นุ่ม ดุจที่ประทับของท่านพระอินทร์ที่กระด้างเมื่อโลกข้างล่างเกิดอาเพศ ก้นนั้นน่าจะย้ายไปย้านมาเพราะมีข้อกังวลว่าจะเก็บภาษีเข้าเป้าได้สักกี่มากน้อย  (ฮา)

 

ในฐานะ “ครีเอเตอร์สมัครเล่น” ขอปักหมุดพูดถึง “ธุรกิจดาวร่วงอันดับหนึ่ง” ที่ ม.หอการค้าไทย เอามาบันทึกไว้ในพ็อตเดียวกัน 4 ช่อ คือ ฟอกย้อม สื่อสิ่งพิมพ์ วารสาร และ “น.ส.พ. รูปแบบกระดาษ!”  

มันช่างประจวบเหมาะที่ผมเองก็พักพิงอยู่กับ น.ส.พ. รูปแบบกระดาษ  ขอบอกพวกเราว่าอย่าฝ่อ ขอเทียบเคียงอย่างสูงส่งว่า บุรุษผู้ “ฝ่อ” ที่ ไม่ตอบโจทย์ เขายังโด๊ป สมุนไพรคืนชีพ จน  “ฟ่อ” ได้ฉันใด สำมะหาอะไรที่ “น.ส.พ. รูปแบบกระดาษ!” โดน “สื่อโลกโซเชี่ยล” เบียดจนเซ ทำไมเราจะโด๊ป “กลเม็ดฮารวยเฮ!” ให้เราหวนกลับมา “นั่งหนึ่ง” ไม่ได้ VIP นั่งแถวหน้าทั้งนั้น “ยืนหนึ่ง” ให้มันเมื่อยตุ้ยไปหาอิหยัง (ฮา)


“ทุกอย่างเมื่อมีตัวตนก็ต้องมีเงา!” เรากำลังตกใจ “เงาสื่อโลกโซเชี่ยล” เกินไปหรือเปล่า ผมเป็นนักล่าเบาะแส ผมอ่านบทสรุป 12 Social Media Insight รายงาน Digital Stat 2022 ของ We Are Social เมื่อ 27/01/2022 ซึ่ง Nattapon Muangtum ได้กรุณานำเสนอข้อมูลที่มีหัวนอนปลายเท้าเอามาตีแผ่ เอาใจส่องแล้วก็มองเห็นแผลแลเห็นกุศโลบายในการบำบัดและบำรุงที่น่าสนใจ  
นักธุรกิจจีนท่านสอนผมเอาไว้นานแล้วว่า “ไฟดับให้นั่งลง หายงงแล้วค่อยวิ่ง” บางคนแผลงคติพจน์นี้เสียใหม่ว่า “เมียเคืองให้นั่งลง เลยเวลางงแล้วค่อยแว่บ” (ฮา) ลองทำใจให้นิ่งสักนิดก่อนจะลุกขึ้นไปลิขิตคำทำนายพลิกร้ายกลายเป็นดี การเล่าความคิดในครั้งนี้เน้น “ชี้โพรงให้กระรอก” การบอกความเห็นในคราวหน้าจะเลือก “กลเม็ดเสืยคืบได้ศอก” ให้กระรอกเป็นผู้ออกแบบการสร้างสรรค์โพรง

ถ้าจะให้ดีควรเพ่งดูร่องรอย Social Media ว่าเขาดูดลูกค้าของเราไปในทิศทางไหน เหตุใดที่ “Gen Z ใช้โซเชียลมีเดียน้อยใกล้เคียงกับ ผู้มีอายุยืน 50-59 ปี!” ค่าเฉลี่ยผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วทุกมุมโลกอยู่ที่ 58.4% คนไทยในปี 2022 ใช้มาก 81.2% ประเทศที่มีผู้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียมากที่สุด คือ U.A.E. ใช้กัน 106.1% มี จุดวอร์ป (Warp) น่าสนใจโดยรวมว่า ผู้ชายสมัครมากกว่า แต่ทว่า ผู้หญิงใช้เวลาเล่นนานกว่า (ฮา) ถ้าจะให้ดีควรเพ่งดูร่องรอย Social Media ว่า เขาลากลูกค้าของเราไปไหน ทำไม “Gen Z ใช้งานโซเชียลมีเดียน้อยพอๆ กับ คนวัย 50-59 ปี!”

                              ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 6

เนื้อหาตามทำนองคลองความที่เขาไปสอบถามเอามาทำโพลย้ำว่า “เวไนยมะนุด” เขาใช้โซเชียลมีเดีย เป็นตัวช่วยเกี่ยวกับอัพเดทชีวิตประจำวันกับเพื่อนและคนในครอบครัว 47.6% ฆ่าเวลาว่าง 36.3% อัพเดทข่าวสาร 35.1% หาคอนเทนต์ที่ตัวเองสนใจ 31.6% ติดตามกระแสบนโซเชียล 29.5% หาเรื่องเสียเงิน 27.7% หาของที่อยากซื้อ 26.3% พูดคุยแชร์ความเห็นกับใครต่อใคร 24.5 %   ล่าเพื่อนใหม่ 23.9% ดูการ LIVE สด 23.8%

โลกยังคงย่ำเท้า “ใช้ดาบโซเชียลมีเดียฟันหญ้า” เกือบทุกเส้นรุ้งเส้นแวงทั่วโลกใบนี้ยังไม่ตื่นตัวงัวเงียที่จะคว้าโอกาส “การใช้โซเชียลมีเดียสำหรับการทำงาน!” เคนย่า กลับโดดเด่นสุดติ่ง ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการทำงาน 41.5% ถิ่นแคว้นแดนไทยเราใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสนับสนุนการทำงานกันเพียง 16% (เตรง เตรง เตรง เตร่ง เตร่ง เตร้ง เตรง เตร่ง…)

อะไร คือ โอกาสเงิน ที่ “น.ส.พ. รูปแบบกระดาษ” ควรจะรีบคว้า?

ประเทศที่มีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อหาข้อมูลของแบรนด์ที่สนใจสูงสุดในโลก คือ เคนย่า 81.6% ตามมาด้วย ไนจีเรีย 79.2% และ โมร็อกโก 75.7% คนไทยกว่า 47.5% หาข้อมูลแบรนด์ หรือ สินค้าที่สนใจบน Social media ควบคู่ไปกับ Search Engine ที่น่าแปลกใจอีกส่วนหนึ่ง คือ คนไทยแค่ 15.1% เท่านั้น ที่ติดตาม Influencer ในโซเชียลมีเดีย สองประเทศซึ่งมีการติดตาม Influencer สูงสุด คือ ฟิลิปปินส์ กับ บราซิล

อะไร คือ โอกาสทอง ที่ “น.ส.พ. รูปแบบกระดาษ” ควรจะรีบฉวย?

คิดปั๊บ “องค์หมาหวงก้าง” ก็ลงประทับทรงปุ๊บ นานๆ ทีที่ผมต้องขอสงวนลิขสิทธิ์ในการประกาศใช้ชื่อ “น.ส.พ. รูปแบบกระดาษ” เรียกว่า  UNSEEN TRUTH NEWS ถ้า ฐานเศรษฐกิจสนใจรับไว้เป็นกัลยาณมิตรในเครือข่าย เราจะลองของรวยนำร่องกันสักตั้งจะเป็นไรไป (ฮิ้ว!)

วิลเลียม ฟอล์กเนอร์ บอกว่า “นิยายที่ดีที่สุด คือ เรื่องจริงยิ่งกว่างานเขียนข่าวใดๆ” มาร์ลีน ดีทริช ชี้ว่า “เพื่อนที่คุณโทรหาได้ตอนตี 4 นั้น สำคัญยิ่งนะ” ผมไม่รอที่จะสรุปตีกินทันทีว่า “น.ส.พ. ที่ เล่าความจริง ให้ ผู้อ่านรวย ก็น่าคบนะ” (ต๊ะ ลึ่ง ตึ่ง โป๊ะ…)