ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 5

07 ม.ค. 2566 | 06:30 น.

ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 5 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3851

 

อาจารย์สายธรรม “ท่าน” เคยทักผมว่า “เธออย่ามัวแต่แห่ตามไปดูดีของผู้อื่น เธอควรจะมีดีให้ผู้อื่นแห่เข้ามาดูดีของเราบ้าง” เราเองต้องเริ่ม “ออกแบบ!” เหนือกว่า“ลอกแบบ!” นักค้าสังฆภัณฑ์ก็เช่นกันหากมัวตามรอยผู้อื่นโดยไม่ “ฉุกคิด” กับ “ขบให้แตกด้วยหลักวิชา” ชะตาก็จะมัวเมื่อหัวคิดไม่แตกแขนง

 

ถ้าสังฆทานขายไม่ออกเราน่าจะขายสินค้าสายมู เช่น “หวีมหานิยม” ใครแต่งทรงผมด้วยหวีนี้จะมีคนเมตตาอ้าแขนสนับสนุน “เป๋าตังค์ดูดเงิน” ใครใช้เป๋าตังค์ศักดิ์สิทธิ์สั่งทำพิเศษเป็นรายบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือที่ผ่านพิธีการเสกคาถาต่อหน้าพระ หรือ เทพที่คนนับถือ (นี่มัน ตัวตึงไวรัล หรือ ตัว เตร็ง เตร่ง เตร๊ง ไวรัล!)

 

ถ้าคิดว่าเป็นการมอมเมาชาวโลก เราก็หันมารับจ้างออกแบบคำอวยพร ที่มีเนื้อหาพิเศษสุดขลัง ต่างจากพรที่เคยได้ยินผู้รับคำอวยพรได้ฟังแล้วจะรู้สึกปิติและศรัทธา หรือ รับจ้างเป็นเจ้าพิธีในการฝังศพให้กับสัตว์ ที่ผู้ว่าจ้างรัก หรือ สงสาร ออกแบบให้หรูหน่อยก็จะดูดี  

 

เมื่อเดือนก่อนจิ้งจกบ้านผมละสังขารไปสองท่าน ห่างกันแค่สองสัปดาห์ ผมเอาไปให้หลวงพ่อสวดส่งวิญญาณ กับ ขอให้มัคนายกช่วยเอาไปฝังให้ด้วย ผมทิปไป 200 บาท มัคนายกไม่มีแววรังเกียจศพแม้แต่น้อย (ฮา) รอบสอง หลวงพ่อ แซวว่า “ฝันเห็นเลขอะไรบ้างไหม” (ฮา)

 

ตลาดสังฆภัณฑ์ มีเรื่องเหมือนฝันเอามาเล่า เจ้าของร้านชื่อว่า คุณเบียร์ แต่ขายไวน์ (ฮา) ลุยงานกันหลายสมรภูมิ ร้านกาแฟ ร้านศัลยกรรมเกาหลี จับพลัดจับผลูก็ชวนเพื่อนมาเปิดร้าน “บุญบังใบสังฆภัณฑ์ ”ยอดขายเครื่องสังฆภัณฑ์เจอทางตันเพราะโควิด ไม่กล้าถามเจ้าของร้านว่า เวลาตัวเองหงุดหงิดในร้านจุดธูปขอพรกันจนควันตลบอบอวลบ้างหรือเปล่า (แฮ่ะๆ)  


ในขณะที่ทุกร้านยอดขายตกนั่งตบอกพูดไม่ออก ปรากฏว่า สังฆภัณฑ์บุญบังใบ ไอเดียเริ่มผลิดอกสุดบรรเจิดหันมาเปิดร้าน รับจ้างตักบาตร (ว้าว) คนเราเมื่อเจอทางตัน “การใฝ่ฝัน” คือ “เครื่องมือในการฝ่าฟัน” อุปสรรคจะหักสะบั้นเมื่อเรามีก๊อกสอง
 

เจ้าของร้านนึกไปคิดมาจนปัญญาเสาะเจอช่องโหว่ ในใจก็ไชโยที่มันแว้บเข้ามาในหัว ผู้คนสมัยนี้ชีวิตมันนัวจึงขอนอนมากกว่าที่จะตื่นขึ้นมาตักบาตรแข่งกับไก่โห่ (อิๆ) เธอใช้ “ทิพยกึ๋น” เล็งไลฟ์สไตล์ของลูกค้าว่า ปกติก็เคยมีลูกค้าขอแรงให้เราเอาของไปส่งให้ถึงบ้าน แสดงว่า เขาต้องการความสะดวก

 

ถ้ามันใช่อย่างนั้น ก็ฝันมันต่อไปเลยว่า เราน่าจะเป็น “นอมินีวิถีบุญ” ลงทุน กระทำการแทน แบบไม่ต้องรอให้เขาไหว้วาน เราจะรับบทเป็น “เซอร์วิส เมคเกอร์” เสนอหน้า บริการรับจ้างตักบาตร ดูแลกันไม่ให้พร่องไม่ให้ขาด เอาใจกันถึงขนาด ถ่ายรูป ถ่ายคลิป ส่งให้ดูเพื่อความสบายใจจะได้ไม่คลางแคลง

 

ก่อนจะตัดริบบิ้นสตาร์ทอัพ เจ้าของร้านเขาลองขยับภาคปฏิบัติ ทดลองกันจริงจังและเคร่งครัด ตื่นมาตักบาตรด้วยตัวเอง เพื่อทำให้ระบบมันลงตัวด้วยการลงมือเตรียมความพร้อมอย่างฉับไว ไป จ่ายตลาด ปรุงอาหาร

 

ตื่นกันทั้งร้านออกมาช่วยกันตักบาตร เมื่อเห็นว่าทุกอย่างเข้าที่เข้าทางก็โพสต์ลงเพจเชิญชวนลูกค้ามาใช้บริการ หลับตาข้ามคืนตื่นขึ้นมา ก็ไอ้หย๋ากับอานิสงส์ในการแชร์  “(ว่าที่) ลูกค้า” แห่กันมาจองคิวเกือบร้อย 

                            ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 5
ก่อนจะตั้งราคาไม่รู้ว่าเจ้าของร้านเขาจะเอาเพลงของ ศุ บุญเลี้ยง มาร้องเตือนใจในช่วงหลบมุมโควิดว่า “กว่าจะได้ขายของกัน  มันก็นาน แสนนาน กว่าจะได้กำไร ต้องใช้เวลาเนิ่นนาน เอ๊า รู้จักกันมานานแสนนาน โย้นๆ บริการบ้านใกล้บ้านไกล ลดเลยรู้ใจ จะได้ไม่ลืม” (ฮิ้ว)

 

อาหาร 1 อย่าง ข้าวสวย ขนม น้ำ รอบนี้ไม่ปั๊มราคาเคาะมาชิลๆ 99 บาท ขั้นตอนการใช้บริการก็ไม่อืดอาด คุณเบียร์ กระวีกระวาดชี้แจงว่า “ถ้าเล่น FB ก็พิมพ์ https://lin.ee/tjd7uF8 ในห้องส่งข้อความ กดแล้วจะมีคิวอาร์โค้ดโชว์ขึ้นมา เข้าไลน์ด้วย ID : @067hdkeg ก็ดี จะได้คุยกันว่า กี่ชุด

 

ถ้ารับดอกไม้ด้วย เพิ่มอีก 9 บาท ตักวันเดียว ตักเป็นแพ็กเกจ 3 วัน หรือ ตักทุกวันเกิด โอนเงิน แจ้งชื่อ นามสกุล ลูกค้าปักหลักอยู่ในที่ตั้ง เมื่อได้เวลาก็ลุกขึ้นมานั่งกรวดน้ำ ผมพิศดูจากเนื้อความแล้วนับว่าเข้าที เรากรวดน้ำเสร็จก็จะกลายเป็นคนดีผีคุ้มโดยฉับพลัน แน่ไม่แน่ก็มีแฟนคลับ 2.6 พัน

 

เหตุที่เอา “บุญบังใบสังฆภัณฑ์” มาบอกกล่าวเพราะวงการ ร้านสังฆภัณฑ์ โอดครวญว่า สมัยก่อนไม่มีออนไลน์ ลูกค้าจะซื้อสังฆภัณฑ์ต้องแวะมาส่องถึงร้าน ครั้นย่างเข้ายุคอินเทอร์เน็ต แนวร่วมก็ระเห็จออกไปเปิดร้านทำเอง คนที่ออนไลน์เก่งหันไปโฆษณาผ่านเน็ทเวิร์ค

 

สงครามการตลาดก็แสบ “ซื่อ” เสียเปรียบ “สัตว์” บางร้านตุกติกพลิกคุณภาพสินค้ากล้าลดสเปค ใช้อะลูมิเนียมแทนทองเหลือง! ลูกค้าไม่เสี่ยงที่จะขูดดูเนื้อโลหะพระพุทธรูป ไม่แยแสหลักการที่ว่า “สินค้าทุกชนิดต้องเป็นไปตามพุทธบัญญัติ” จึงกล้าตัดราคาท้าทายนรก!