กำไรเผ่นเตลิดถ้ามองข้ามหลักการตลาด ฉากที่ 1

10 ธ.ค. 2565 | 11:49 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2565 | 19:06 น.

กำไรเผ่นเตลิดถ้ามองข้ามหลักการตลาด ฉากที่ 1 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3843

 

“แมวมอง” คือ “คนที่สนใจเสาะหาผู้ที่มีแววว่าสามารถจะก้าวหน้าในทางใดทางหนึ่งเพื่อเอาไปปลุกให้เก่งเร่งปั้นให้โด่งดัง เขาเองจะได้ประโยชน์จากความสำเร็จในจ็อบนั้น” เช่น ไปเดินเตร่ส่องงานวัดก็เจอสาววัยใสเตะตัดขา มะนุดวิ่งราว ที่ กระชากสร้อยทองหนักเก้าบาท ลากไปไกลทั้งสร้อยและคอของมนุษย์ป้า (ฮา) หลังจากดราม่าสงบลง เขาก็รีบเข้าไปจีบวีรสตรี พูดจาชักชวนให้เธอก็ไปเป็นนักมวยหญิง

 

“หมามอง” คือ คนที่สนใจใฝ่อาสามีส่วนร่วมกับความเป็นไปของสังคม เพื่อจะเข้าไปแจมเพื่อคลี่คลายหรือส่งเสริมให้ร้ายกลายเป็นดี คนสายนี้มีสมญานามว่า “หมาเฝ้าบ้าน” (Watch Dog) สุนัขฝูงนี้จะไม่สนใจ น่องไก่ หรือ ซองเงิน โยนเผือกให้งับเมื่อไหร่หัวใจจะกระดิกทันที (ฮา)

 


คิดจะแซว “แมวมอง” ก็พอจะลองเล่นกันได้ สำหรับ “หมามอง” ขออนุญาตชี้นำว่า ถ้าไม่อยากมีปัญหาในการใช้ชีวิต ก็อย่าไปแกว่งน่องกวนเขี้ยว ปักหมุดเอาไว้เลยว่าสายพันธุ์นี้กัดไม่ปล่อย

 

ใครเคยหม่ำซาลาเปาร้านคนจีนก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด จะเห็นได้ว่าบางร้านหยิบซาลาเปาใส่จานโดยไม่สวมถุงมือ ลูกค้าท้วงติงก็ชะงักออกอาการไม่ชอบใจ พร้อมกับพูดสวนกลับมาว่า  “อั๊วเปิดร้านมายี่สิบปี ไม่เคยมีใครจุกจิกเหมือนลื้อ” ลูกค้าก็แก้ต่างว่า “จุกจิกอะไร ผมท้วงเฮียเรื่องเดียวเอง ไม่ได้บ่นหลายเรื่อง” เฮียก็ไม่ลดลาวาศอก พูดหักหาญน้ำใจว่า “ถ้าลื้อไม่ไว้ใจอั๊ว ก็ไม่ต้องกิน” 


ลูกค้าที่ยืนรอคิวคนถัดไปจึงพูดแทรกบ้างว่า “ลูกค้าไว้ใจเฮีย แต่ไอ้เศษแป้งที่มันเกาะติดซอกเล็บเฮีย เขาไม่ไว้ใจ” (ฮา) เฮียกระดกลิ้นสวนมาทันควันว่า “อั๊วะก็ขายยังงี้มาตั้งนานแล้ว” ลูกค้าขั้วหมามอง! ปล่อยของใส่เฮียบ้างว่า “ยุคนี้คงจะบริการแบบอะไรก็ได้ ท่าจะลำบากนะเฮีย ผมอุตส่าห์พูดแทรก ก็เพราะอยากให้เรื่องมันจบๆ จะได้ไม่ต้องรอนาน กะอีแค่สวมถุงมือมันจะลำบากอะไรนักหนา!”


คนที่ไม่รู้จักคิดทำนองนี้ กูรูการตลาด จะชี้ขาดว่าเป็น “นักการตลาดสายตาสั้น!”

 

มุมมองในเรื่องนี้เป็นคติพจน์ส่งสัญญาณเตือนใจทั้ง SME และ บริษัทระดับยักษ์ ให้รู้จักถนอมตัว ถนอมร้านค้า หันมาใส่ใจ ถนอมวิธีการ กับ ถนอมลูกค้า  ร่วมใจกระชับภูมิปัญญาพัฒนา “ถนอมการตลาด” ถ้าเราเข้าถึงนัยได้ลึกขนาดนี้ มีหรือที่เราจะไม่เอาคำแนะนำมาทำเป็นแว่นสายตามาสวมมองการณ์ไกลให้ชัดแจ๋ว

 

“เราจะเอาอะไรมาวัดว่า ร้านนี้สายตาสั้น ร้านนั้นสายตายาว!

                                   กำไรเผ่นเตลิดถ้ามองข้ามหลักการตลาด ฉากที่ 1

SME กลุ่มใด ผู้ร่วมงานไม่มองการณ์ไกล คิดแต่จะขาย ละเลยความต้องการของลูกค้า กินสั้นไม่กินยาว ไม่เล่าประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ หลับหูหลับตายัดเยียดทางเลือกเซ็งสุด ไม่ปักหมุดชี้จุดมุ่งกันสดๆ แผนในอนาคตไม่มีการจัดเตรียม ไม่คิดที่จะปรับไม่สดับที่จะเปลี่ยน ไม่เลือกมนุษย์ที่เข้าถึงคนเข้าร่วมงาน

 

แสดงว่า ไม่แลจึงไม่เห็น ไม่เห็นจึงไม่เล็ง เพราะว่าไม่รู้จะเล็งเคลมจุดไหน ไม่เล็งจึงไม่คิด ในหัวคิดไม่มีภาพไม่มีอักษรปรากฏจึงไม่มีแง่คิดอะไรงอกเงย ไอ้เกยตื้นเรื่องเบาะๆ โดนหินโสโครกเจาะเรื่องจะยาว


“บท(ได้)ความ” เรื่อง “การตลาดสายตาสั้น”ของ ศ. ธีโอดอร์ เลอวิทท์  คลี่ปมธุรกิจสำคัญเอาไว้ชัดเจน เน้นว่า ร้านค้าเล็กใหญ่จะไม่โดน  ไวรัสการตลาดสายตาสั้น โจมตี ถ้ารีบฉีดสร้างภูมิต้านทาน 4 โดส

 

เข็มแรก พวกเขาจะต้องปรับให้เข้ากับความต้องการของตลาดและยิ่งเร็วยิ่งดี

 

เข็มสอง บริษัทต้องจ้างผู้นำที่เข้มแข็งซึ่งมีวิสัยทัศน์และแรงขับเคลื่อนเป็นตัวกำหนดจังหวะของบริษัท

 

เข็มสาม ทั้งองค์กรจะต้องสร้างลูกค้าและองค์กรที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

 

เข็มสี่   บริษัทต้องคิดว่าตัวเองเป็นลูกค้าผู้รอซื้อ

 

ถ้าไม่สนใจที่จะฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทาน 4 โดส เพราะยังมั่นใจเกินจริงคล้ายกับเจอ “พยับแดด”  สำหรับชีวิตธุรกิจอาจจะแผลงเป็น “พยับมโน” ลวงตาลวงใจ เดินไป เดินมา ย่ำอยู่ตรงจุดเดิมแต่เพียงลำพัง โอกาสจะพังตั้งลำไม่ทันเพราะอหังการ์ว่าธุรกิจเราล้ำเลิศเชิดหน้าไม่แคร์ใคร ระวังทำมาทำไปไม่มีใครแคร์เรา

 

คติพจน์ตะวันตกพูดกันกระหึ่มเมืองว่า “Hire People for their Hard Skills, but they End Up Firing People for their lack of Soft Skills.” แปลว่า “เขาจ้างคนด้วยทักษะที่แข็งแกร่งแต่ในที่สุดเขาก็เลิกจ้างคนเพราะขาดทักษะที่อ่อนนุ่ม”  

 

เนื้อหาสาระในสำนวนนี้ส่งสัญญาณมานานปีว่า ตลาดเดิมจะวาย ตลาดออนไลน์จะว้าว อย่างไรก็ตาม ได้เรืออย่าถีบแพ คือเมื่อใด “ทักษะไฮเทคแข็งแรง” ลากเราไปแจ้งเกิดในตลาดออนไลน์ ถ้ามัวยะโสมองข้าม “ทักษะที่อ่อนนุ่ม” จึงละทิ้งความประณีตไม่แยแส ใคร ระวังจะแจ้งตายไม่ทัน

 

ใครเคยกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าร้านคนจีนหลังสงครามโลกจะรู้ว่า คนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น จะสำเหนียกว่าควรจะญาติดีกับเจ้าถิ่น ลูกค้าโวยว่า “ช้าจัง…รอนาน” อาแป๊ะจะบอกว่า “ล่ายแล้วๆ ลื้อสั่งเส้งอาไล” (ฮา) การพูดเอาใจให้ลูกค้าหายหงุดหงิด เป็นการตอบสนองของคนที่รู้จักมองข้ามช็อตว่า ตนเองพึงระวังอาฟเตอร์ช็อค

 

คนที่คิดการณ์ไกลทำนองนี้ กูรูการตลาด จะเรียกเขาว่า “นักการตลาดสายตายาว!”