ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 7

21 ม.ค. 2566 | 06:30 น.

ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 7 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3855 หน้า 6

ศิลปินตลกท่านหนึ่งเคยเล่า ความต้องการจากใจจริงของภรรยา ให้ผมฟังว่า เมียผมเขาจับเข่าคุยกับผมว่า “มึงจะไปตะลอนอะไรที่ไหนกูไม่ว่า กูขอมึงสามอย่าง หนึ่ง อย่าไปเอาโรคจากคนอื่นมาปล่อยใส่กู สอง อย่า ให้ใครมายืนท้องโย้ด่ากราดที่หน้าประตูบ้าน กูไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ถึงจะสวมหน้ากากเพื่อนบ้านรุ่นโควิดมันก็ยังจำกูได้

สาม ต้องมีเงินเหลือไว้เลี้ยงดูลูกเมีย” เรื่องนี้ต่างกับเคสที่ สามี ลองถามวัดใจ ภรรยา ว่า “พี่ขอมีเมียเพิ่มอีกสักคน เอาเขามาอยู่บ้านเดียวกันได้ไหม” เธอก็พูดว่า “ได้สิ แต่เราต้องแยกที่นอนกันนะ มึงนอนในโลง กูนอนในคุก อีนั่นนอนติดเตียง โอ.เค.ไหมล่ะ” (ฮา)

 

ย้อนไปหลายปีก่อน มีผลสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่า คนไทยสนใจอ่าน น.ส.พ. มากที่สุด คุณ Kannjang (นามแฝง) เขียนฝากไว้ใน GotoKnow เนื้อหาไม่กี่คำ แต่นำเอาไปตีความได้เป็นปี

เธอบอกผู้อ่านว่า “น.ส.พ. ที่น่าสนใจ จะต้องเป็นหนังสือที่ไม่ใช่แค่อ่านแล้วทิ้งเท่านั้น!” ผมลองใช้ใจอ่านตามคำบอกก็พอจะแกะรอยได้ว่า หลังจากเขาอ่าน น.ส.พ. ที่น่าสนใจ จบแล้วก็รู้สึกเสียดาย ไม่คิดจะเอา ไปโยนทิ้ง หรือว่า ชั่งกิโลขาย เขาชั่งใจแล้วว่า น.ส.พ. แบรนด์นี้มีคุณค่าดุจดั่ง “โอเอซิสกลางทะเลทราย!” ทบทวนสารบัญดูแล้ว น.ส.พ. นี้ เขามี (1) ข่าว (2) ขง (3) ขำ (4) ของ และ (5) แขก

“ข่าว” คือ สุดยอดข่าวที่สังคมอยากรู้ อันเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่รู้ไม่ได้  จุดเด่นที่ผู้อ่านสนใจเป็นพิเศษตรงที่มันพิลึก น่าทึ่งที่เราไปล้วงข่าวนี้มาได้ น.ส.พ. จะต้องไม่สอบตก คือ ข่าวแต่ละเรื่องต้องมีเนื้อหาคล้ายแม่เหล็ก Unseen News และ Truth News สนธิกันอยู่ในเคสเดียวกัน อย่างเช่น

ข่าว Unseen Road เมื่อพนักงานได้พยายามทำดีรับหน้าที่ตีเส้นกลางด้วยสีเหลืองแบ่งเลนซ้ายขวาเมื่อลากเส้นมาเจอกันมันก็ “จบกัน” เพราะ “เส้นมันไม่บรรจบกัน” เป็นไปได้ไหมที่โซนนั้น แผ่นดินไหว จึงเหวี่ยงจนถนนมันจึงย้วย (ฮา) มีคนเดาว่ามั่นใจเกินไปจึงไม่เซอร์เวย์ก่อนตีเส้น ก็เห็นใจนะ มันพลาดกันได้!    

“ขง” คือ การใช้พื้นที่เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เป็นจุดนัดพบเพื่อชี้แนะเรื่องที่เอาไปใช้ในการทำงานได้จริง วิชาที่ควรเปิดสอนควรจะเป็นวิชาที่สถาบันการศึกษาเขาไม่เอามาสอนทั้งๆ ที่ควรจะสอนนานแล้ว หรือ อาจจะเป็นความรู้เฉพาะส่วน ที่สถาบันการศึกษาสนใจจะจัดให้กึ่งวิทยาทาน 

                       ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 7

ใครเป็นสมาชิกประจำ ของ  น.ส.พ. จะมีสิทธิ์เข้ามาเรียนฟรี เรียนจบก็แจก เกียรติบัตรเชิดชูผู้รักการเรียนรู้ ถ้าสอนการขายอาหาร เขาจะได้เอาเกียรติบัตรนี้ออกมาใส่กรอบโชว์ว่า ได้สูตรอาหารมาจากแบรนด์เรา เราจะยกระดับ น.ส.พ. ขึ้นมาเป็นสื่อสร้างสรรค์เชิงประจักษ์ 

“ขำ” คือ ประกวดการเล่ามุกด้วย ข้อเขียน ภาพวาด หรือ ภาพถ่าย อ่านแล้วหรือ ดูแล้ว มันชวนหัวและชวนคิด อย่างเช่น แผ่นป้ายหน้าร้านเขาเขียนข้อความเตือนไว้ว่า “วัตถุมงคล เครื่องราง ของขลัง ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ช่วยแก้ปัญหาได้เป็นครั้งคราว ไม่มีในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญ เลิกได้ก็เลิก ถ้าเลิกไม่ได้ เชิญเลือกด้านใน” (ฮา) จะให้ดีชวนเขาร่วมเมนท์ ใครเมนท์สร้างสรรค์ก็ให้รางวัลกันไป

“ของ” คือ การคัดตัวแทนหน่วยงานมาประชันการขายของกันว่า ใครนำเสนอโดนใจลูกค้ามากกว่า อย่างเช่น ลูกค้าสนใจรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแต่โต้แย้งกันกับนักขายเรื่องราคามันแพง นักขายคนที่สองก็อธิบายกับลูกค้าว่า ผมคุยกับผู้บริหารเหมือนกันว่ามันแพงไปหรือเปล่า ท่านบอกผมว่า ราคามันสูงแต่ไม่ถือว่าแพง  

ลูกค้างงว่า สูง กับ แพง มันต่างกันตรงไหน นักขายอธิบายต่อว่า รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขายราคาถูกกว่าแบรนด์นี้ก็มีอยู่ แต่ถ้าขับไม่นานนักแล้วระบบการติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน แบตเตอรี่มันก็ระเบิด รถเสียหายไม่แพงเท่ากับเราโดนไฟลวก ได้ไม่คุ้มเสีย รถเราราคาสูงจริงแต่สบายใจได้ว่ามันไม่แพง ลูกค้ายิ้มแล้วก็สั่งซื้อ

“แขก” คือ สรรหาคนทำดีที่ปิดทองหลังพระ มาเล่าประสบการณ์ดราม่าพิสดารเป็นอุทาหรณ์ เราส่งแมวมองเข้าไปสืบแต่ละจังหวัด รับประกันว่า เมื่อบุคคลตัวอย่างของจังหวัดเขาได้รับการเชิดชูลงเต็มหน้าใหญ่ มีหรือเขาจะไม่ปลื้ม หากช่วยเขาโปรโมทกิจการในจังหวัดเขา น.ส.พ. เราก็จะไปงอกเงยที่นั่นในไม่ช้า

ชาร์ลส์ เอ. ดานา พูดกระเซ้า น.ส.พ. ว่า “หมากัดผู้ชายไม่เป็นข่าว เมื่อผู้ชายกัดหมาจะเป็นข่าว” มันแหงอยู่แล้ว เพราะคนสนใจความพิสดารถ้าเราไม่ทำให้ “น.ส.พ. รูปแบบกระดาษ” พิสดารกว่าออนไลน์ เราก็จะโดนย้ายไปยืนอยู่ในมุมสงบ เจอร์รี โคลแมน ให้ความเห็นว่า “วันที่ไม่มีหนังสือพิมพ์มันเหมือนกับการเดินไปมาโดยไม่ใส่กางเกง” (ฮา) เขาแค่จะบอกว่า “น.ส.พ. ระดับพหูสูต ทำให้เขามั่นใจในตัวเองยิ่งขึ้น”

“ความจริง” คือ “สปอร์ต ไลท์” เมื่อใดที่เราเห็นเงาปัญหาสูงใหญ่ ควรฉายสปอร์ตไลท์สวนกลับไปแล้วจะเห็นว่า คนจะสนใจซื้อหรือไม่นั้น มันขึ้นอยู่กับการ “ปรับ!” และ “ปรุง!”