ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 8

28 ม.ค. 2566 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2566 | 06:59 น.

ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 8 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล ฉบับ 3857

หลายกาลที่ผ่านมาก่อนจะประจัญกับโควิด หนังสือพิมพ์นานาชาติ เขาก็มีอารมณ์ขันกันใช้ได้ การพาดหัวข่าวคนอ่านร้องว้าวเคล้าเสียงฮาเป็นระยะ อย่างเช่น “การประชุมด้านความปลอดภัยจบลงด้วยอุบัติเหตุ?” นักคอมเมนต์ได้ทีก็แซวว่า “ครั้งหน้าคุณน่าจะมีการประชุมโดยบังเอิญ เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้คนปลอดภัย” หรือ “วัวตกงานเพราะนมราคาตก!” (ฮา) และ “ฆาตกรบอกว่านักสืบเป็นผู้ทำลายชื่อเสียงของเขา” (ฮา)

“ผู้ลงคะแนนเสียงเขาลงคะแนนว่าจะลงคะแนนกันหรือไม่” (ฮา) โรงพยาบาลหันไปจ้างหมอ! นักคอมเมนต์ตาลุกวาวฉกโอกาสหยอดตามหลังว่า “เอ๊ะ! แล้วใครเป็นตัวเลือกแรกของพวกเขา?” (ฮา) อุตส่าห์ลุยมาหลายช่วงตัว ไม่รู้ว่าจะมีมุกชวนหัวมาชโลมเส้นประสาทกันต่อรึเปล่า ยุคนี้จะขึ้นช้างหรือลงม้าก็ต้องฮาไว้ก่อน!

ผมเห็นด้วยกับ อ.ฟองสนาน จามรจันทร์ ว่า เราต้องปฏิวัติตนเอง ไม่งั้นจะจัดระเบียบอนาคตไม่ทัน เราต้องเร่งปฏิวัติ “ธุรกิจดาวร่วง” กันให้สุดปลายกระบี่ จะทำเฉยปล่อยให้ข่าวผ่านมาแล้วผ่านไปเลยก็ใช่ที่

ข่าวที่เอามาหยอดไว้แต่ละปีไม่ใช่ “ข่าวกำพร้า” จะได้โยนทิ้งลงถังขยะปิดจ๊อบกันไปเฉยๆ น.ส.พ. ยุคใหม่ต้องไม่ทอดทิ้ง “การบริการหลังการเสนอข่าว” ได้เวลาปฏิวัติพลิกโฉมตัวตนจาก “นกขมิ้น”ยกระดับขึ้นไปเป็น “นกอินทรี?” อย่างน้อยที่สุดจะขี้หมูขี้หมาอย่างไรก็ต้องปังไม่น้อยไปกว่า “พญาเหยี่ยว!”

เมื่อจำต้องประชันมันก็ต้องเข้าใจ “จุดฟื้นชีพ” กับ “จุดดับชีพ” ถ้าลูกค้าอยากได้  “ความสะใจ” 100% เต็มพิกัด ถ้าเราจัด “สิ่งที่ลูกค้าพิศวาส” มอบให้ 60% คู่แข่งเจ้าเก่า จัด “สิ่งที่ลูกค้าพิศวาส” มอบให้ 50% เรายิ้มหวานกันอยู่ไม่กี่วัน จู่ๆ หน้าใหม่เขาโผล่มาจัด “สิ่งที่ลูกค้าพิศวาส” มอบให้  70%  

จ๊อบนี้ เจ้าเก่า เสียเปรียบเราอยู่ 10% เจ้าใหม่ ได้เปรียบเราอยู่ 10% ประเมินคร่าวๆ ได้ว่า เรายังรักษา “จุดฟื้นชีพ” ไว้ได้ เจ้าใหม่ กลายเป็น “ธุรกิจดาวรุ่ง!” ขณะที่ เจ้าเก่า มีแววติดอันดับ “ธุรกิจดาวโหล่” ถ้าไม่รีบปฏิวัติตนเองให้คืบหน้ามากกว่าจุดเดิม ก็ต้องระวัง “แลนด์จะไหล” กระชากเข้าใกล้ “จุดดับชีพ”

สะกิดอีกทีว่า แม้ไม่เห็นตัวสัตว์ร้าย ใจก็อย่าฟุ้งกลัวเงา อย่าเพิ่งล้วงเป๋าตังค์เมียเอาไปซื้อเชือกเด็ดขาดใครติดอันดับ “ธุรกิจดาวรุ่ง” อย่าเพิ่งเย็นใจในปีกระต่าย ถึงแม้ เต่า จะชักช้า ก็เคยมีปรากฏการณ์ปาดหน้าทีเผลอกันมาแล้ว

ข้อสำคัญอันควรยึดเป็นอนุสติจากการสมมุตินั้น อยู่ตรงที่ว่า “สิ่งที่ลูกค้าพิศวาส” อีก 30% ที่ยังไม่มีใครลงมือทำ ประเด็นนี้มีคำชี้นำอยู่ว่า ใครไขกลเกมได้ไวกว่าสรรหา “สิ่งที่ลูกค้าพิศวาส” ตรงจุดได้มากกว่า

ผู้ที่สามารถประเคน “สิ่งที่ลูกค้าพิศวาส” 30% ก่อนใคร ผู้นั้นจะเป็น “ธุรกิจดาวเหนือ!” ทันทีปรากฏการณ์ดราม่าอีหรอบนี้ ผู้ที่โดนตีตราว่าจะเป็น “ธุรกิจดาวรุ่ง” ก็มีสิทธิที่จะคิดแรงทำแซงโค้งได้ทุกราย

สถิติ ปี 2562 คนไทย อ่านหนังสือพิมพ์ 53.3%  อ่านนิตยสาร 9% และ อ่านคู่ขนานทั้งหนังสือพิมพ์  กับ นิตยสาร 37.3% คาดว่าปีนี้จะมีผู้อ่าน น.ส.พ. อย่างน้อยที่สุด 33% จะว่ากันไปแล้วผู้ที่ทำให้เราตกระดับไม่ใช่คู่แข่ง เรานี่แหละเป็นคนทำตัวเราเอง

นัก น.ส.พ. บางท่านชี้ว่า น.ส.พ. ออนไลน์ ไม่ใช่ น.ส.พ. เพราะตั้งขึ้นมาเพื่อหาตังค์ มันก็จริงแหละ แล้ว น.ส.พ. ฉบับไหนที่ไม่ได้ทำเพื่อตังค์ (ฮา) ถ้าทำเพื่อหามาเลี้ยงตัวเองและผู้ร่วมงานแล้วจัดส่วนที่เหลือไปช่วยสังคม ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะชั่วร้ายตรงไหน

วันนี้เรามาไกลถึงยุค 5.0 ถ้าใครยังคิดเหมือนเดิมว่า น.ส.พ. คือ น.ส.พ. น.ส.พ. จะเป็นอื่นไปไม่ได้ ผมว่าไม่ใช่? น.ส.พ. คือ ม่านกันแดด น.ส.พ. คือ ถุงใส่ถั่วลิสงต้ม น.ส.พ. คือ กระดาษห่อสิ่งของ น.ส.พ. คือ กระดาษปิดหน้าศพที่ยิงกันตายคาถนน น.ส.พ. ไม่ได้เป็นแค่ น.ส.พ. มาตั้งนานแล้ว ว่าแต่ว่า เราจะปล่อยให้ น.ส.พ. มีมูลค่าเพิ่มเท่าที่เอามาอ้างย้อนภพมาเท่านั้นหรือ

เราทำตัวเป็น “ศูนย์กิจกรรมเพื่อจรรโลงชาติ” กันเถอะ ลองคุยกับสถาบันการศึกษาดูสิว่า เขาสนใจที่จะส่งตัวแทน นศ. ปี 4 โชว์ผลงานที่คิดเองทำเองพร้อมกับแนะนำ “ความรู้ฉบับลัดนิ้วมือคือเศรษฐี” คัดเอามาแบไต๋สัก 1 ใน 10 ก็ได้ การหวงวิชาเป็นสิทธิอันพึงมี เพราะสังคมเราชอบฮุบความรู้ผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง 

น.ส.พ. ได้ข่าวโดยไม่ต้องว่าจ้าง ชาวบ้านก็ได้ความรู้ที่ครูไม่เคยสอน นักศึกษาได้ประสบการณ์ในการนำเสนอ เรื่องราว และ เนื้อหา สถาบันการศึกษาก็ได้หน้า สังคมทุกระดับจะเริ่มปรับตัว ครอบครัวเห็นข่าวก็ปลื้มใจ ใครจะไปรู้ว่าอาจมีหน่วยงานใดให้งบอุดหนุน เผลอๆ จะมีองค์กรที่เห็นว่า นี่คือช่องทางในการสร้างต้นทุนทางสังคม ก็ยืนมือมาขอเข้าร่วม น.ส.พ. จะมีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชนกว้างขวางกว่าเดิม

อัดไล สตีเวนสัน ที่ 2 เป็น ทนาย นักการเมือง (พรรคเดโมแครต) และ นักการทูต ทูตประจำ UN ดูประวัติท่านแล้วก็ไม่แปลกใจว่า ทำไมถึงกล้าแซวเข้าไส้ปานฉะนี้ ท่านพูดเอาไว้นานก่อนจะสู่สุขคติ ปี 2508  “บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คือ ผู้ชายที่แยกข้าวสาลี ออกจากแกลบ แล้วพิมพ์แกลบ!” (ฮา) เข้าใจว่าท่านคงจะ พูดถึง น.ส.พ. ใน USA มั้ง ไม่เกี่ยวอะไรกับ ฐานเศรษฐกิจ แน่นวล

กราบเท้าท่านผู้บริหาร ฐานเศรษฐกิจ ทุกท่าน เก้าอี้ที่ท่านซื้อไว้ให้ผมนั่งราคาไม่ธรรมดา กรุณางดการเลื่อยขาเก้าอี้เอาไว้ก่อน (ฮา) ผมแค่เอามาให้ท่านผู้อ่านดูว่า ธุรกิจ น.ส.พ. ยืนอยู่ท่ามกลางเขาควาย ไม่รู้ว่าจะโดนขวิดตอนไหน ยังมีเรื่องที่ต้องเสี่ยงอีกเยอะ หนึ่งในนั้น คือ การปฏิวัติ น.ส.พ. ให้เป็นมากกว่า น.ส.พ.