ภาวะสมองพิการในเด็ก

21 ม.ค. 2567 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2567 | 11:42 น.

ภาวะสมองพิการในเด็ก : Tricks for Life

ภาวะสมองพิการ หรือ Cerebral Palsy เกิดจากสมองได้รับความเสียหายจากสาเหตุต่างๆ ในช่วงทารกหรือเด็กเล็ก ส่งผลให้มีพัฒนาการที่ล่าช้า โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว การสื่อสาร การเรียนรู้ และพฤติกรรม ทำให้เด็กมีความผิดปกติที่พบได้บ่อยได้แก่ การยืนเดินทรงตัวผิดปกติ แขนขาเกร็ง หรือการกลืนสำลัก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการเข้าสู่สังคมอย่างมาก

การรักษาเด็กสมองพิการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการรักษาเด็กสมองพิการมีความจำเป็นต้องใช้การรักษาหลากหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การรักษาด้วยยา, การทำกายภาพบำบัด ,การทำกิจกรรมบำบัด และการกระตุ้นพัฒนาการ

หนึ่งในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก คือ ห้อง Snoezelen สามารถใช้บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยเด็กสมองพิการ เด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ที่ส่งผลต่อการเรียน และการดำเนินชีวิตในอนาคต

ผลการใช้ห้อง Snoezelen ของโรงพยาบาลเวชธานี เป็นห้องบำบัดที่จำลองสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสหลากหลายด้านของร่างกายได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การดมกลิ่น และยังสามารถใช้ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ใช้ในการทรงตัว ยืนเดิน ที่จะช่วยให้เด็กสมองพิการมีการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น

ภาวะสมองพิการในเด็ก

โดยภายในห้อง Snoezelen จำลองสิ่งแวดล้อมให้มีสิ่งเร้าที่จะสามารถกระตุ้นประสาทสัมผัสได้หลากหลายตามหลักการ multi-sensory stimulation ประกอบไปด้วย แสง สี เสียง กลิ่นหอม และสัมผัส ทำให้การกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่างๆมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลลัพธ์การรักษาดีขึ้น และใช้เวลาในการรักษาลดลง โดยการใช้ห้อง Snoezelen ในการกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ ดังนี้

การเคลื่อนไหว : สามารถช่วยฟื้นฟูโดยการใช้อุปกรณ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวด้วยกระดานสัมผัส การทรงตัวบนเตียงน้ำ การใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวตามแสงไฟ เป็นต้น

การสื่อสาร : สามารถช่วยพัฒนาการสื่อสารของเด็กสมองพิการได้ เช่น การร้องเพลงตามเสียงดนตรี หรือเกมการออกเสียงผ่านไมโครโฟนเพื่อให้เกิดแสงไฟ เป็นต้น

การเรียนรู้และปัญหาพฤติกรรม : สามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กสมองพิการ และเด็กกลุ่มออทิสติกได้ เช่น กิจกรรมบำบัดในการฟังเสียงดนตรี การจำลองสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความสงบผ่อนคลาย หรือการใช้ interactive playground เพื่อเพิ่มการจดจ่อและสมาธิของเด็ก

ทั้งนี้ พ่อแม่ควรสังเกตพัฒนาการของลูกหากพบว่ามีพัฒนาการช้า หรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อประเมินและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,959 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2567