KEY
POINTS
อาทิตย์นี้เป็นอาทิตย์ที่สอง หลังเกิดแผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ ผมต้องขออนุญาตเพื่อนๆแฟนคลับทุกท่าน เพื่อใช้คอลัมน์นี้มาเขียนเล่าสู่กันฟังอีกสักสองอาทิตย์นะครับ เพราะจากการคาดการณ์ของผม ที่ผมเคยเขียนเล่าให้ฟังในคอลัมน์นี้ไปแล้วเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าหลังจากเกิดแผ่นดินไหวสักสาม-สี่อาทิตย์ คาดว่าน่าจะมีโรคระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่ประสบภัยอย่างแน่นอน นี่ไม่ใช่เป็นการเดาสุ่ม แต่เป็นเพราะประสบการณ์ที่ผมเคยเห็นมาในพื้นที่จริงหลายแห่ง ซึ่งทุกแห่งที่พบมานั้นไม่มีแห่งใดที่จะรอดจากโรคระบาดเลย แม้ว่าพื้นที่นั้นๆจะมีการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมดีเพียงใดก็ตาม เพราะโรคระบาดเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ยากที่จะป้องกันครับ
ในเมืองมัณฑะเลย์ประเทศเมียนมา ยิ่งเลวร้ายกว่าพื้นที่ๆผมเคยเห็นมาหลายเท่า ความสะอาดภายในเมืองนั้นยังไม่ดีพอ อีกทั้งระบบสาธารณสุขพื้นฐานและสุขอนามัยของเขา ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก จึงทำให้ผมมีความเชื่อว่า เมืองมัณฑะเลย์ไม่น่าจะรอดครับ สำหรับโรคร้ายที่เคยเขียนเล่าเมื่ออาทิตย์ก่อน ผมเอาการระบาดของโรคบาดทะยักขึ้นเป็นอันดับแรก แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับกลายเป็นว่าโรคท้องร่วง และโรคอหิวาตกโรค น่าจะมาก่อนเสียแล้วครับ เพราะในคืนวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ที่มัณฑะเลย์ได้เกิดพายุฝนกระหน่ำ ฝนตกลงมายังกับว่าฟ้ารั่วเลยครับ ชาวบ้านที่บ้านเรือนพังทลายในช่วงแผ่นดินไหว ที่ต้องกางเต็นท์นอนกัน ต้องถูกพายุลมฝนกระหน่ำซ้ำเติมเข้าให้ ทำให้ที่หลับที่นอนไม่สามารถใช้การได้อีก น่าสงสารมากเลยครับ
นอกจากนี้ ฝนที่ตกลงมานั้นได้ชำระล้างเอาศพมนุษย์ ที่ยังคงถูกฝังติดค้างอยู่ในใต้ซากปรักหักพัง น้ำฝนที่ผสมกับน้ำเหลืองของซากศพ ได้ไหลลงไปตามลำคลองและแม่น้ำอิรวดี ที่ไหลผ่านเมืองมัณฑะเลย์ ทำให้น้ำในแม่น้ำไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก และวิถีชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นั่น มักจะใช้น้ำบ่อในการบริโภคและชำระล้างอาหาร ก็เรียบร้อยครับ ไม่สามารถใช้น้ำเหล่านั้นได้ ประชาชนคนที่มีฐานะดีหน่อย ยังพอจะซื้อหาน้ำขวดที่ถูกส่งไปจากต่างเมืองไว้ใช้ได้ แต่ชาวบ้านที่ฐานะยากจนนี่แหละครับ ที่เป็นปัญหาหนักที่สุดครับ ส่วนเชื้อของโรคระบาด แน่นอนว่าต้องเกิดการกระจายที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างหลีกเลี่ยงยาก ผมจึงเชื่อว่าโรคระบาดที่เป็นโรคที่มากับน้ำทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น โรคอหิวาตกโรค โรคไวรัสตับอักเสบ A และไวรัสตับอักเสบ B โรคไทฟอยด์ โรคท้องร่วง และโรคอื่นๆ ย่อมกระจายอย่างรวดเร็วเลยละครับ
นอกจากนี้ การที่ผู้ประสบภัยไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเอง เพราะบ้านเรือนได้ถูกแผ่นดินไหวเสียหายล่มจมไปแล้ว ก็ต้องไปอาศัยที่พักชั่วคราวที่ทางรัฐบาลจัดหาให้ แต่เท่าที่เห็นก็เป็นเพียงเพิงพักที่แออัดมากๆ จะมีเพียงผู้ป่วยที่ต้องการรักษาเร่งด่วนจริงๆ ถึงจะมีสิทธิในการเข้าไปอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม ส่วนคนที่ไม่ได้มีการบาดเจ็บหรือล้มป่วย ก็ต้องไปอาศัยอยู่ในเต็นท์ที่ทางการจัดหามาให้ ดังนั้นโรคระบาดที่เกิดจากการแออัดยัดเยียดกัน ที่แพร่ระบาดได้ง่าย เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งสายพันธุ์เดิมกับสายพันธุ์ใหม่ โรคไอ หรือเกิดจากโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ ก็จะตามมาอีกมากมายครับ
ผมได้มีการเข้าไปเรียนพบกับทาง ฯพณฯท่านเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยท่าน Zaw Zaw Soe มา ท่านก็ได้บอกผมผ่านมายังพี่น้องชาวไทยเราว่า ณ เวลานี้ สิ่งที่ทางผู้ประสบภัยมีความต้องการมากที่สุด นั่นก็คือ “มุ้งสำหรับกางนอน” เพราะอย่างที่ทราบว่าเมืองมัณฑะเลย์มีที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำอิรวดี อีกทั้งยังมีคูคลองอีกหลายเส้นไหลผ่าน น้ำที่ท่วมขังอยู่ไม่ว่าจะเป็นเวลาปกติหรือ ณ วันนี้ ต่างเป็นแหล่งเพาะยุงอย่างดี ทำให้กลางคืนยุงจะเยอะมาก ชาวบ้านผู้ประสบภัยยามนี้ การหลับนอนยามค่ำคืน อีกทั้งจะเป็นบ่อเกิดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้เหลือง(เป็นโรคที่ประเทศไทยเราไม่ได้เห็นมานาน) และโรคมาลาเรีย ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ จึงมีความยากลำบากมาก ท่านอยากได้มุ้งไปบริจาคให้แก่ชาวบ้านจำนวนมากครับ นอกจากนี้ ท่านเอกอัครราชทูต Zaw Zaw Soe ยังได้ฝากบอกบุญมาอีกว่า อาคารบ้านเรือนที่เสียหายไปเยอะ ทำให้ผู้คนขาดที่พักอาศัย หากมีท่านใดอยากจะช่วย ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ
โดยส่วนตัวผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนชาวเมียนมา ที่เข้ามายังกรุงเทพฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาก็บอกผมว่า สิ่งก่อสร้างที่พังทลายลง จะต้องมีการก่อสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เชื่อว่าวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น รวมทั้งวัสดุก่อสร้างอื่นๆ น่าจะต้องมีการนำเข้าจากประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นต่อจากนี้ไป เชื่อว่าจะมีพ่อค้าชาวเมียนมา ต่างเดินทางเข้ามาหาซื้ออุปกรณ์การก่อสร้างที่ประเทศไทยเรา โดยเฉพาะตามชายแดนไทย-เมียนมาอย่างมากทีเดียวครับ ส่วนเพื่อนๆ ท่านใดที่มีวัสดุสำเร็จรูป ก็น่าจะเป็นโอกาสในการค้า-ขายกับเมียนมาอีกครั้งนะครับ
ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมาเอง เราก็จะเร่งรีบจัดหาเวภัณฑ์ วัคซีน และยารักษาโรคพื้นฐาน เพื่อนำเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยเช่นกัน ซึ่งผมตั้งใจว่าจะเดินทางเข้าไปยังเมืองมัณฑะเลย์ ในปลายเดือนนี้เป็นอย่างช้า ตอนนี้กำลังรอกำหนดการจากเพื่อนๆ ที่จะร่วมกันบริจาคสิ่งของและยารักษาโรค เพื่อนำเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยอยู่ หากท่านใดมีจิตเมตตา ที่จะร่วมกันทำบุญกับทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ก็สามารถแสดงจิตจำนงมาได้ที่ สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ที่เบอร์โทรศัพพ์ 02-345-1094 หรือทาง E-Mail : nutdanaik@fti.or.th คุณโบ๊ท หรือติดต่อมาที่ผม kich@euithailand.com โดยตรงเลยก็ได้นะครับ