คุยกันต่อเลยครับ ... การดำเนินงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนว่า จีนตระหนักดีว่าเมล็ดพันธุ์เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของการเกษตร เมล็ดพันธุ์เป็น “สารตั้งต้น” ที่มีความสำคัญต่อการสร้าง และรักษารูปแบบการผลิตทางการเกษตร รวมทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงแรกของห่วงโซ่อาหาร
ขณะเดียวกัน การมีต้นกล้าที่มีคุณภาพสูง ก็เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร แล้วจีนทำอะไรอีกบ้าง อย่างไร ...
ผมสังเกตเห็นจีนให้ความสำคัญกับส่วนหลังนี้ ควบคู่ไปด้วย อาทิ การจัดตั้งศูนย์ปลูกต้นกล้าอัจฉริยะที่เขตเผิงอาน (Peng’An) เมืองหนานชง (Nanchong) ด้านซีกตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเสฉวน
ศูนย์ฯ แห่งนี้ติดตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสำหรับการเพาะปลูกต้นกล้าหลากชนิด อาทิ ข้าว ข้าวโพด พริก และ ผักอื่น ทําให้สามารถผลิตต้นกล้าโดยอัตโนมัติด้วยขีดความสามารถ 8,000 ถาดต่อวัน ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการสําหรับพื้นที่เพาะปลูกราว 6,250 ไร่
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในลักษณะนี้ มีกระจายอยู่ในหลายแห่งของจีน ในการไปเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งหนึ่งในแถบลุ่มแม่นํ้าแยงซีเกียง ผมยังแอบชื่นชมกับความคิดในการปลูกต้นกล้าของเมล็ดพันธุ์บางประเภทในเรือนเพาะชำขนาดมาตรฐาน ที่มาพร้อมกับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรอัตโนมัติ ทำให้การเพาะปลูกต้นกล้ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
ผลการวิจัยเชิงลึกขององค์กรเหล่านี้ ยังทำให้เกิดนวัตกรรมเมล็ดพันธุ์มากมายในจีน ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อาทิ การคิดค้นเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลีที่ทนต่อนํ้าเค็ม และเรพซีดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งการค้นพบยีนต้านทานโรคและเชื้อพันธุ์ ที่มีวงจรผสมพันธุ์ที่สั้นลงของข้าวโพด
และเมื่อปลายปีก่อน จีนยังอนุมัติพืชดัดแปลงยีน และพืชจีเอ็มใหม่อีกหลายสายพันธุ์ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ฝ้าย และ ยางพารา โดยในเรื่องนี้ จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีในการดัดแปลงดีเอ็นเอ (DNA) ที่แม่นยำขึ้น เทคนิคนี้ชื่อเรียกว่า “Cut-Dip-Budding” (CDB) ซึ่งช่วยขจัดขั้นตอนที่ซับซ้อน
เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้สามารถลดกระบวนการแก้ไขยีนจาก 4 สัปดาห์เหลือเพียง 2 สัปดาห์ รวมไปถึงการปรับโครงสร้างคณะกรรมการด้านเทคนิค เพื่อการกำหนดมาตรฐานพืชและผลิตภัณฑ์พืชเขตร้อน ภายใต้กระทรวงเกษตรและกิจการชนบท โดยมุ่งเน้นไปที่มาตรฐานของยางพารา มันสำปะหลัง และกล้วย
เพื่อต่อสู้กับความท้าทายด้านสภาพอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอื่นๆ จีนยังนำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้ โดยงานในส่วนนี้ได้รับการ “ต่อยอด” ด้วยความไฮเทคและความสร้างสรรค์ในระบบนิเวศ
ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรด้านดิจิตัล 5 ปี ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2028 จีนกำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างแพลตฟอร์มบิ๊กดาต้าระดับชาติ และใช้เทคโนโลยีการเพาะปลูกแบบดิจิตัล โดยบูรณาการบิ๊กดาต้า ระบบจีพีเอส และเอไอ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงเครื่องจักรเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร
เช่น การควบคุมเรือนกระจกด้วยปัญญาประดิษฐ์ และการใช้โดรนในการตรวจสอบสวนผลไม้ และการพัฒนาระบบชลประทานดิจิตัลที่ช่วยให้สามารถประหยัดนํ้าในการเพาะปลูกได้อย่างมาก
การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพิ่มความแม่นยำและชั่วโมงการทำเกษตร (แม้กระทั่งช่วงเวลากลางคืน) ขยายประสิทธิภาพระบบการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและปุ๋ย และลดภาระงานในบางสภาวะอากาศและพื้นที่ เช่น ภูเขาในสภาพอากาศร้อน รวมทั้งยังสร้างประโยชน์ในด้านอื่นๆ อาทิ การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก การมีส่วนร่วมในความมั่นคงด้านอาหาร และ การปกป้องสิ่งแวดล้อม
ที่ผมชอบอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไทยควรเรียนลัดจากจีนก็คือ การให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรผลิต “คลิปสั้น” และแชร์บนแพลตฟอร์มโต่วอิน (Douyin) เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านเทคนิคการทำฟาร์มชั้นสูง อาทิ การจัดการเมล็ดพันธุ์ก่อน-ขณะ-หลังการเพาะปลูก การควบคุมศัตรูพืช และการบริหารจัดการนํ้า ซึ่งช่วยให้สามารถเข้าถึงเกษตรกรในวงกว้างด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำ โดยไม่จำกัดจำนวนการชมซํ้า และช่วงเวลาการชม อันนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและการประหยัดทรัพยากรทางการเกษตรไปพร้อมกัน
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์และส่วนอื่นๆ ยังนำไปสู่การจัดตั้ง “ธนาคารเมล็ดพันธุ์” ของจีน นับแต่ปี 2021 อันอาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาระบบนิเวศดังกล่าวนำไปสู่ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์” ของจีนอย่างแท้จริง และยังนำไปขยายผลในมิติด้านอื่นๆ ในเวลาต่อมา
อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งทำให้นโยบายการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับพื้นที่ชนบทของจีนเกิดเป็นรูปธรรมอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ ที่ประชุมสองสภา “เหลี่ยงหุ่ย” ระหว่างวันที่ 4-10 มีนาคม 2025 ยังตอกยํ้าถึงการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ประการแรก จีนได้กำหนดนโยบายด้านการผลิตใหม่ “กําลังการผลิตคุณภาพใหม่” (New-Quality Productive Force) ที่จะเข้ามาแทนนโยบาย “Made in China 2025” ผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการเกษตรสมัยใหม่
ประการถัดมา ปี 2025 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่นโยบายการพัฒนาด้านการเกษตร และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรถูกบรรจุเป็น “เอกสารกลางอันดับ 1” (No. 1 Central Document) ซึ่งสะท้อนว่า พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนให้ความสำคัญ กับการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อผลักดันให้เกิดความทันสมัยของภาคการเกษตร
เราจึงน่าจะเห็นความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และอุปกรณ์การเกษตรอัจฉริยะในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งานของปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า โดรน และ ดาวเทียม นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการเร่งพัฒนาในอีกหลายด้าน ซึ่งครอบคลุมถึงนวัตกรรมเมล็ดพันธุ์อยู่ด้วย
เท่านั้นไม่พอ ในระยะหลัง จีนยังไม่ได้หยุดการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ไว้เพียงบนพื้นโลกเท่านั้น แต่ยังจัดส่งเมล็ดพันธุ์หลายประเภทไปวิจัยนอกโลก อาทิ มันฝรั่งที่ทนต่อความเค็ม ในภารกิจยานอวกาศเสินโจว 16 (Shenzhou 16) ขึ้นไปทำวิจัยเชิงลึกบนสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) นอกโลกอีกด้วย
ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า เมล็ดพันธุ์ที่สัมผัสกับสภาพแวดล้อมของอวกาศ มีอัตราการกลายพันธุ์เร็วกว่าบนโลก 3-4 เท่า ซึ่งอาจลดเวลาในการผสมพันธุ์พืชลงได้ครึ่งหนึ่ง นั่นหมายความว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ของจีน อาจเร็วยิ่งขึ้น และสนับสนุนนโยบายความมั่นคงด้านอาหารและแผนงานด้านอื่นๆ ของจีนอีกมากในอนาคต
ยกตัวอย่างเช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีนวางแผนที่จะปฏิรูปภาคการเกษตรครั้งใหม่ โดยจะยกระดับพื้นที่เพาะปลูกพื้นฐานถาวร (Permanent Basic Farmland) ให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูง (High-Standard Farmland) โดยตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนให้ได้รวม 560 ล้านไร่ ภายในปี 2030 และเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกพื้นฐานถาวรที่มีสิทธิ์ทั้งหมด ให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูงภายในปี 2035
อนึ่ง พื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูงหมายถึง พื้นที่เพาะปลูกที่มีสิ่งอํานวยความสะดวกเป็นอย่างดี ต้องการการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์สําหรับการป้องกันและควบคุมภัยพิบัติ และการปรับปรุงคุณภาพดิน และการจัดการพื้นที่เพาะปลูกโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2024 จีนได้พัฒนาพื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูงราว 420 ล้านไร่ และสร้างเครือข่ายการชลประทานที่มีความยาวรวมกว่า 10 ล้านกิโลเมตร!!!
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ผ่านองค์กรภายในประเทศแล้ว จีนยังขยายความร่วมมือกับต่างประเทศ ผมขอยกยอดประเด็นนี้ไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...
หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,087 วันที่ 13 - 16 เมษายน พ.ศ. 2568